สรรพคุณกัญชา ด้านยาและประโยชน์ในการรักษาโรค

ทำไมกัญชาถึงได้รับการปลดล็อก หลายคนก็อยากจะรู้ว่าสรรพคุณของกัญชาด้านประโยชน์ทางการแพทย์ดียังไง กัญชาช่วยรักษาโรคอะไรได้บ้าง

ยืดเยื้อกันมาพักใหญ่ในที่สุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ไฟเขียวปลดล็อกกระท่อมและกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5 [อ่านข่าว: สนช. ไฟเขียวให้นำกัญชา – กระท่อม วิจัยทางการแพทย์ รักษาโรคได้] เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ทางการแพทย์นำไปศึกษาถึงสรรพคุณของกัญชาและกระท่อมในการรักษาอาการเจ็บป่วย และเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้น ประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก ๆ และหลายคนคงอยากทราบสรรพคุณของกัญชา ว่ามีประโยชน์ในทางการแพทย์อย่างไรกันแล้วใช่ไหม

กัญชา พืชให้คุณค่าแต่แฝงข้อควรระวัง

กัญชาจัดเป็นพืชดอกในตระกูล Cannabaceae มีต้นกำเนิดที่แถบเอเชียกลาง แต่ในปัจจุบันมีการปลูกในหลายพื้นที่ หลายประเทศ โดยกัญชาภาษาอังกฤษเรียกว่า cannabis, Marijuana, Ganja, Hemp เป็นต้น

กัญชามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Canabis sativa L. subs indica เป็นพืชที่มีต้นตัวผู้และต้นตัวเมียแยกกัน โดยสารสำคัญในกัญชาคือสารแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) ซึ่งมีมากกว่า 100 ตัว อีกทั้งยังมีสารเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol-THC) มีอยู่มากในส่วนของยอดช่อดอกกัญชา เป็นสารสำคัญที่มีผลกระตุ้นระบบประสาท ดังนั้นกัญชาจึงเป็นพืชที่ควรใช้อย่างระมัดระวัง

เนื่องจากกัญชามีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ดังนั้นแม้จะมีการปลดล็อกให้นำกัญชามาใช้อย่างถูกกฎหมายได้แล้ว แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะปลูกกัญชาหรือมีไว้ในครอบครองได้นะคะ เพราะจะให้สิทธิเฉพาะ 8 กลุ่มนี้เท่านั้น

1. หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือการเรียนการสอนวิชาด้านการแพทย์, เกษตรศาสตร์

2. หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ป้องกัน ปราบปรามและแก้ปัญหายาเสพติดหรือสภากาชาดไทย

3. ผู้ประกอบวิชาชีพเครือข่ายแพทย์ไทย และหมอพื้นบ้านตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

4. สถาบันอุดมศึกษาที่ศึกษาและวิจัย และเรียนด้านการแพทย์

5. ผู้ประกอบอาชีพเกษตรที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมาย

6. ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ

7. ผู้ป่วยที่เดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเสพติดและพกติดตัว

8. ผู้ขออนุญาตที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบ ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถส่งต่อให้ทายาทหรือผู้ที่ได้รับความยินยอมได้ กรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตเสียชีวิตก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ

อย่างไรก็ตามองค์กรและบุคคลดังกล่าวมีสิทธิเฉพาะในการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองกัญชาและกระท่อมโดยเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดและผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ

กัญชา รักษาโรคอะไรได้บ้าง

สรรพคุณของกัญชาที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และการรักษาผู้ป่วยตามที่มีรายงาน มีดังนี้

1. ลดอาการคลื่นไส้-อาเจียนในผู้ป่วยที่รับเคมีบำบัด

ภญ. ดร.สุภาพร ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ประโยชน์ของกัญชามีฤทธิ์ต้านอาเจียน ช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร

ทั้งนี้ยังมีหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนอย่างชัดเจนว่า กัญชามีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดแล้วคลื่นไส้-อาเจียน

2. ลดอาการปวด

ข้อมูลจากวารสารเภสัชศาสตร์อีสานระบุว่า สาร THC ในกัญชามีฤทธิ์เป็นยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ และยาต้านออกซิเดชั่น

3. รักษาโรคลมชัก

มีงานวิจัยที่ระบุว่า กัญชามีสรรพคุณรักษาโรคลมชักในเด็กที่รักษายาก หรือในผู้ป่วยเด็กโรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ

4. รักษาโรคปลอกประสาทเสื่อม

ในงานวิจัยมีการระบุสรรพคุณของกัญชาที่ช่วยรักษาผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งที่มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง หรือโรคเอ็ม เอส นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเส้นประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล ก็มีงานวิจัยที่ระบุว่า สารสกัดจากกัญชาอาจช่วยบรรเทาอาการปวดของผู้ป่วยได้

5. ช่วยให้ผ่อนคลาย

ภญ. ดร.สุภาพร ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ในตำรับยามีการนำกัญชามาเป็นยาอยู่หลายตำรับ โดยเฉพาะยานอนหลับ ช่วยให้ผ่อนคลาย ทำให้ผู้ป่วยหลับสบายขึ้น อีกทั้งกัญชายังมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร และยังแก้ท้องเสียได้ด้วย

6. อาจช่วยรักษามะเร็งปอด

สถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิจัยพบว่า สารในกัญชาส่งผลให้ก้อนมะเร็งปอดในตัวหนูทดลองเล็กลงได้ โดยในการศึกษาได้นำสาร THC และสาร CBN ซึ่งเป็นสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากกัญชา ฉีดลงไปที่เซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในหนูทดลองทุกวัน เป็นเวลา 3 สัปดาห์ กระทั่งพบว่า หนูทดลองที่ได้รับสาร THC และสาร CBN มีขนาดของก้อนมะเร็งเล็กลง จึงสรุปได้ว่า สารทั้ง 2 ตัวมีฤทธิ์ต้านมะเร็งปอดของมนุษย์ในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง (อ่านข่าว ม.รังสิต แถลงผลวิจัยครั้งยิ่งใหญ่ พบสารในกัญชา ช่วยให้ก้อนมะเร็งปอดลดลง)

อย่างไรก็ตาม สรรพคุณของกัญชายังจำเป็นต้องมีการศึกษาถึงฤทธิ์ของกัญชาเพิ่มเติม ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยในการใช้กัญชาในทางการแพทย์ และเลี่ยงผลข้างเคียงของกัญชาที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยนะคะ

กัญชา ในตำรับยาแพทย์แผนไทย

จากข้อมูลในตำราพระโอสถพระนารายณ์ และตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ พบข้อมูลตำรับยาไทยที่เข้ากัญชาอยู่หลายตำรับ ซึ่งรวบรวมมาจากพระคัมภีร์หลายฉบับ แสดงให้เห็นว่า มีการใช้กัญชาประกอบเป็นตัวยาเพื่อบำบัดรักษาอาการป่วยต่าง ๆ มานานหลายร้อยปีแล้ว

ทั้งนี้ นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย ได้ยกตัวอย่างสรรพคุณตำรับยาไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ เช่น

– ตำรับศุขไสยาศน์ มีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับสบาย แก้ปวด เจริญอาหาร ซึ่งนำมาใช้ทดแทนหรือเสริมกับยาแผนปัจจุบันในกลุ่มยานอนหลับ ยาคลายเครียด

– ตำรับทำลายพระสุเมรุ มีฤทธิ์ช่วยแก้อาการแข็งเกร็งจากอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

– ตำรับน้ำมันสนั่นไตรภพ ช่วยเรื่องท้องมาน ท้องบวม คลายลมในท้อง ท้องอืดจากโรคมะเร็งตับ ใช้ทาบริเวณท้อง

– ตำรับทัพยาธิคุณ ช่วยเรื่องโรคเบาหวาน ลดน้ำตาล

นอกจากนี้ยังมีตำรับยาแผนแพทย์แผนไทยอีกหลายชนิดที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

โทษของกัญชาที่ต้องระวัง

กัญชาถูกควบคุมให้อยู่ภายใต้กฎหมายเนื่องจากกัญชาถือเป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท กดประสาท และหลอนประสาทในกรณีที่ใช้เกินกำหนดและไม่ถูกวิธี เพราะสารในกัญชาสามารถออกฤทธิ์ต่อจิตและระบบประสาท โดยสารดังกล่าวจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสมองอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้เกิดโทษและอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น ทำให้ผู้เสพรู้สึกตื่นเต้น ช่างพูด กระสับกระส่าย และหัวเราะตลอดเวลา ก่อนจะกดประสาททำให้มีอาการซึมเศร้า ง่วงนอน เวียนศีรษะ ปากแห้ง หากเสพเข้าไปในปริมาณมาก ๆ จะหลอนประสาท ทำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ความคิดสับสน ควบคุมตนเองไม่ได้

นอกจากนี้ นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ก็ได้เผยผลการสำรวจที่พบว่า ผู้ป่วยเสพติดกัญชามีการเกิดโรคจิตเวชสูงถึงร้อยละ 72.3 รวมไปถึงความเสี่ยงโรคจิต อารมณ์แปรปรวน และโรควิตกกังวล ก็สูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการปลดล็อกกัญชาและกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5 เพื่อนำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว แต่หากเป็นคนกลุ่มอื่นที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปลูกหรือครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่ถึง 10 กิโลกรัม จะมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และในกรณีที่มีไว้ครอบครองเกิน 10 กิโลกรัม ให้ถือว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย ต้องโทษจำคุก 1-15 ปี ปรับ 100,000-1,000,000 บาท เลยทีเดียว

ที่มา https://health.kapook.com/view204246.html