ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก

จริงๆแล้วมีนักจิตวิทยาหลายคนให้ความหมายของความรักไปต่างๆนานา แต่ว่าสุดท้ายแล้วมีนักจิตวิทยาคนหนึ่งชื่อว่า Robert Sternberg ได้รวมรวมทฤษฎีต่างๆที่เกี่ยวกับ “ความรัก” ที่มีหลายคนเคยเสนอเอาไว้ มาวิเคราะห์ รวบรวม ไตร่ตรอง และสังเคราะห์ มาเป็นทฤษฎีใหม่ ซึ่งทฤษฎีนี้ก็ได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

โดยทฤษฎีนี้ Sternberg ตั้งชื่อได้น่าสนใจทีเดียว ทฤษฎีนี้ชื่อว่าทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก

(Triangular theory of love)

Sternberg บอกว่าสิ่งที่เรียกว่า “ความรัก” มีด้วยกัน 3 องค์ประกอบ เปรียบได้กับมุมของสามเหลี่ยมแต่ละมุม ซึ่งได้แก่

1. Intimacy (ความผูกพัน) หมายถึง การมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน การที่คนสองคนมีความสนิทสนมกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน พูดคุยกันในทุกๆเรื่อง

2. Passion (ความหลงใหล) หมายถึง มีความชอบพอในรูปลักษณ์ ภาพลักษณ์ มีความลุ่มหลงต่อคนนั้น ย้ำคิดย้ำทำคิดวนไปวนมาแต่เรื่องของคนนั้น เรื่องลุ่มหลงนี้เนี่ย หมายรวมไปถึงเรื่องแรงดึงดูดทางเพศด้วยนะ (18+)

3. Commitment (ความมีพันธะสัญญา) หมายถึง การที่เรายอมอุทิศตนเพื่ออีกคนหนึ่งอย่างสุดความสามารถอย่างซื่อสัตย์ และทำตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้กับคนๆนั้นไว้

จากองค์ประกอบของ “ความรัก” ทั้ง 3 อย่าง ทำให้เราแบ่ง “ความรัก” ได้เป็น 8 ประเภท ขึ้นอยู่กับจำนวน

องค์ประกอบของความรักที่มี
ความรักบางประเภทมีเพียง 1 องค์ประกอบ
ความรักบางประเภทมี 2 องค์ประกอบ
ความรักบางประเภทก็มีครบทั้ง 3 องค์ประกอบ

ซึ่งความรักทั้ง 8 ประเภท มีดังนี้

1. Nonlove คือ ความไม่รัก ฟังแล้วดูงงๆ แต่หมายถึงความรักที่ไม่ได้มีองค์ประกอบอะไรเลยใน 3 องค์ประกอบ ก็ลองสังเกตกันนะว่าถ้าตอนนี้คนที่เราคบอยู่ยังไม่มี 3 องค์ประกอบนี้เลย แสดงว่านั่นอาจจะเป็นความไม่รักก็ได้ ใครเจอเหตุการณ์แบบนี้ แนะนำให้ไปฟังเพลงนิว จิ๋ว “ไม่รัก ไม่ต้องมาแคร์ ไม่ต้องมาดีกับฉัน…..หยุดได้ไหมสักที หากไม่รักก็ปล่อยกันไป”

2. Liking/ Friendship คือ รักแบบเป็นมิตร เป็นความรักที่มีองค์ประกอบเดียว คือ ความผูกพัน ก็อารมณ์ประมาณว่าสนิทกันไปไหนมาไหนด้วยกัน คุยกันถูกคอ แต่ได้ชอบอะ ไม่ได้หลงอะ เข้าใจปะ ประโยคคลาสิกที่หลายคนเคยเจอกัน “เราเป็นแค่เพื่อนกันเถอะ” พูดง่ายจังวะ “แล้วหัวใจที่มันผูกพันไปแล้วหละวะ ใครจะรับผิดชอบ…”

3. Empty love คือ รักว่างเปล่า เป็นความรักที่มีองค์ประกอบเดียวคือ Commitment หรือ ความมีพันธะสัญญา ผมว่าหลายคนคงเคยเจอนะ มันเป็นความรักที่อาจจะเกิดขึ้นมานานแล้ว เราไม่ได้สนิทกันแล้วแหละไม่ค่อยได้เจอกันแหละ เราก็ไม่ได้หลงใหลในรูปร่างหน้าตาอะไรเขา แต่ว่าถ้ามีเรื่องอะไรเดือดร้อนเราก็พร้อมช่วยเขานะ (อารมณ์แฟนเก่าที่ยังพบปะกันอยู่อะ เข้าใจไหมอะ ทำกูอินวะ….. 555) ความรักแบบนี้เกิดได้อีกกรณีคือคนที่อยู่ด้วยกันมานานเหมือนคุณตา คุณยาย ประมาณนั้น เรื่องความหลงใหล ความสนิทสนมก็หายจางไปตามวัย แต่ว่ายังไงก็พร้อมอุทิศและเสียสละตนเองให้กับคนรักของเรานะ……. อยากเห็นเธอตอนแก่จัง มันดีที่เราอยู่ด้วยกัน มันดียังกะฝัน จะอยู่ด้วยกันไปจนแก่ไหม……

4. Infatuated love คือ รักแรกพบ หรือแนวหลงเขาตั้งแต่แรกเห็นนั่นแหละ (Love at the first sight) เหมือนอารมณ์ Romeo & Juliet อะครับ คือเห็นครั้งแรกปุปหลงรักเลย (เคยดูหนังแล้วงงเลยครับ เจอกันครั้งแรก มองผ่านตู้ปลา รักกันละ ผมละเข้าไม่ถึง…) ความรักแบบนี้เป็นความรักที่มีองค์ประกอบเดียวคือ Passion หรือ ความหลงใหล บางคนอาจจะมองว่า ความรักแบบนี้เป็นบุพเพสันนิวาส หรือ แต่บางคนก็บอกว่ามันอาจเป็นเพียงแค่อารมณ์ชั่ววูบก็ได้เห็นเขาหน้าตาดีไงก็เลยหลง แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม ใครที่มีความรักแบบนี้ก็ขออวยพรให้เป็นความรักอันเป็นนิรันดร์แบบ Romeo & Juliet ละกัน

5. Romantic love คือ ความรักอันหวานแหวว ฟังแล้วดูเหมือนจะเป็นความรักที่ดีที่สุด แต่จริงๆความรักที่หอมหวานของหลายๆคน ยังขาดสิ่งที่เราเรียกว่าความมีพันธะสัญญา (commitment) การที่จะยอมทำทุกอย่างให้กับอีกฝ่าย การที่พร้อมจะเสียสละและอุทิศตนเพื่อคนที่เรารักในทุกๆเรื่องนั้นมันไม่ใช่เรื่องงานเลยที่จะหาคนแบบนั้น

ความรักแบบนี้นี่แหละที่เป็นต้นเหตุของการหย่าร้างกัน เพราะว่าคิดว่าผูกพันกัน (Intimacy) และ ชอบกัน หลงกัน (Passion) แล้วก็จบละ พออยู่ด้วยกันจริงๆจำเป็นจะต้องมีความเสียสละ ต้องยอมอุทิศบางอย่างที่เป็นสิ่งที่เราชอบไปด้วย ซึ่งบางครั้งหลายๆคู่ก็ไม่สามารถผ่านจุดนี้ได้ก็ต้องเลิกรากันไป

เพราะฉะนั้นเวลาใช้ชีวิตร่วมกันก็ต้องระมัดระวังต้องยอมเสียสละให้กันและกัน และสุดท้ายมีเรื่องอะไรที่อยากให้ปรับอย่ามัวเขินอายครับ บอกกันไปตรงๆเลยครับบางทีการแปลความมันก็ยากเกินกว่าจะเข้าใจ (โดยเฉพาะเพศชายที่มีความสามารถเดาพฤติกรรมเพศหญิงได้ต่ำมาก…. ไม่ต้องมารับหรอกดึกแล้วเดี๋ยวเรียกแท๊กซี่เอง อันนี้แปลว่า มึงรีบมารับเขาเดี๋ยวนี้เลยเข้าใจป่าววะ) ก็พยายามปรับตัวเขาหากันนะครับ “ก่อนที่มันจะสาย”…..

6. Companionate love คือ ความรักแบบคู่คิดคู่ใจ คือเป็นความรักที่ประกอบด้วย ความผูกพัน และ ความมีพันธะสัญญา ให้กัน มันเป็นอารมณ์แบบว่า เพื่อนสนิท อะนะ น่าจะเข้าใจกัน คือ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ยอมเสียสละให้กันได้ในทุกๆเรื่อง ยอมทำหลายๆให้กับคนๆนั้น แต่มันยังขาดความหลงใหลต่อกัน หรือพูดง่ายขาดความชอบพอกัน หรืออาจจะชอบพอเขาผ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายไม่ชอบพอด้วยก็จะเกิดความรักแบบนี้ได้ อันนี้พบบ่อยกับผู้ชายหน้าตากลางๆอย่างพวกเราที่แอบรักสาวหน้าตาดี สนิทกับเขา ช่วยเหลือเขาทุกอย่างและสุดท้ายยังไง “เพื่อนสนิท” ไง จบปะ!!! แต่ผมว่าการเป็นเพื่อนสนิทก็ไม่ได้เลยร้ายนะ มันเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีวันขาดมีแต่จะเพิ่มพูนความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น ต่างกับการเป็นแฟนที่พร้อมจะเลิกกันได้ตลอดเวลาเลยนะ…. “รักแบบนี้มีไว้เก็บ….. ไม่ได้มีไว้เสี่ยง”

7. Fatuous love คือ รักเพ้อเจ้อ เป็นความรักที่มีองค์ประกอบของความหลงใหล และความมีพันธะสัญญา แต่ขาดองค์ประกอบของความผูกพัน จะเป็นอารมณ์ว่าหลงจนโงหัวไม่ขึ้นนั่นเอง หลงแบบพร้อมที่จะอุทิศทุกอย่างให้ ซึ่งเขาก็ไม่ได้ให้ความสนิทสนม หรือมาใกล้ชิดกับเรามากขึ้นเลย ความรักแบบนี้พบบ่อยมาก และมักจะเป็นปัญหากับเหล่าที่ปรึกษาทั้งหลาย เพราะส่วนใหญ่ที่ปรึกษาจะบอกว่า “เลิกเหอะ…คนแบบนี้ไปหลงอะไรนักหนา” คุ้นๆกันไหมประโยคนี้ “จะทำเพื่อมันทำไมนักหนาฟระ” แล้วสุดท้ายเป็นไงละ แม่งไม่เคยเชื่อกันหรอก…….. อันนี้แนะนำที่ปรึกษาว่าให้เพื่อนลองเจ็บนะครับ หลงเขานักก็ควรจะได้รับบทเรียนครับ เชื่อผมเถอะมันเจ็บแต่จบจริงครับ

8. Consummate love คือความรักสมบูรณ์แบบ คือ ความรักที่มีองค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งความผูกพัน ความหลงใหล และความมีพันธะสัญญา เป็นสิ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์ในอุดมคติของคนเรา อย่างไรก็ตาม Sternberg บอกว่าความรักแบบนี้มีจริง แต่ไม่สามารถรักษาให้มีอยู่ได้ตลอดเวลา ไม่ใช่ของที่เกิดถาวรมีเกิดขึ้นเพียงช่วงหนึ่งของชีวิตเท่านั้น แต่ว่าแม้ว่าจะเป็นแค่ช่วงเดียวของชีวิตการมีรักที่สมบูรณ์ก็ย่อมดีกว่ามีรักแบบอื่นนะ
ว่าแล้วก็หยิบ เพลง “ความรัก” ของ superbaker ขึ้นมาฟัง “เคยไหมบางที่เหนื่อยก็อดทน คิดถึงบางคนจนไม่ยอมพักผ่อน เคยไหมบางเพลงไม่ชอบฟังแต่อยากจะร้องให้ดีสักหน เพราะรู้ว่าใครบางคนที่ชอบเพลงนั้น”

ได้เห็นวิธีการแบ่งประเภทของความรักตามนี้แล้วก็น่าจะเริ่มรู้กันแล้วแหละว่า “เอ๊ะความรักของเรานั้นเป็นแบบไหนกันแน่นะ” แต่ไม่ว่าความรักของคุณจะเป็นแบบไหนในตอนนี้ จะสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ก็ตามที

จงจำไว้ว่าประเภทของ “ความรัก” เปลี่ยนไปได้ตามเวลา เพราะฉะนั้นจงอย่าท้อถอย ถ้าเราเชื่อว่าความรักของเราจะเป็นความรักที่สมบูรณ์ได้ก็จงอย่าลังเลที่จะเติมเต็มความรักให้สมบูรณ์นะครับ

“ถ้าคุณอ่านมาถึงบรรทัดนี้ได้แสดงว่าคุณเหมาะจะมี “ความรัก” เพราะคุณมีความอดทนสูงมาก บางครั้ง “ความรัก” ก็ต้องใช้ความอดทนไม่มีใครหรอกที่จะทำให้เกิดความรักที่สมบูรณ์ในครั้งแรก ความอดทนและการให้อภัยนี่แหละที่จะทำให้เกิดองค์ประกอบของความรักขึ้นมา”

ขอให้โชคดีในความรักทุกคน

ขอบคุณรูปภาพ SINANA

เรื่องราว nedawriterblog

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *