อดีต รมว.คลัง ยกบทวิเคราะห์สื่อญี่ปุ่น ชี้ศก.ไทยกำลังตาย แจกเงินไม่ช่วย ซ้ำคนจนลงเพียบ

อดีต รมว.คลัง ยกบทวิเคราะห์สื่อญี่ปุ่น ชี้ศก.ไทยกำลังตาย แจกเงินไม่ช่วย ซ้ำคนจนลงเพียบ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจไทย โดยอ้างอิงบทวิเคราะห์จากสื่อญี่ปุ่นความว่า “เศรษฐกิจไทยตายด้วยถูกมีดจิ้มพันครั้ง”

สำนักข่าวญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังตายทีละน้อย เขาใช้สำนวนว่า death by a thousand cuts คือถูกมีดพับจิ้มทีละนิด แต่เป็นพันครั้ง กว่าจะตายใช้เวลา แต่เป็นอันว่าตายแน่นอน

บทความอ้างหลักฐานธนาคารโลก(ดูกราฟ) ที่ภายหลังการปฏิวัติ สัดส่วนคนจนได้กลับเพิ่มขึ้น

ในห้วงเวลาสิบปีก่อนปฏิวัติ สัดส่วนคนจนในไทยลดลงมาตลอด ปี 2006 (2549) ในระดับ 25% ในปี 2015 (2558) ก่อนผลจากการปฏิวัติ ลงมาอยู่ระดับ 7.2%

แต่ภายหลังการปฏิวัติ สัดส่วนคนจนกลับเพิ่มขึ้น จนปี 2018 (2561) สูงขึ้นเป็น 9.85% จำนวนคนจนเพิ่มจาก 4.85 ล้านคน เป็น 6.7 ล้านคน

ทั้งที่ รัฐบาล คสช. ได้ใช้นโยบายแจกเงินมาตลอด โดยแจกแก่ผู้ถือบัตรคนจนจำนวนมากถึง 14.5 ล้านคน มากกว่าคนจนที่มีอยู่จริงด้วยซ้ำ

และในโครงการ ชิมข้อปใช้ ก็น่าจะมีคนที่อยู่นอกเหนือ 14.5 ล้าน แต่ชำนาญในการใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า ที่ได้เงินแจกไปด้วย

ถามว่า ทำไมแจกเงินแต่เศรษฐกิจกลับตายลงทีละน้อย?

ตอบว่า เพราะการแจกแบบหว่านลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ (helicopter money) ซึ่งเกิดขึ้นแบบเป็นครั้งเป็นคราวนั้น คนที่รับจะเอาไปต่อยอดยกระดับตัวเองได้ยาก จึงเน้นแต่อุปโภคบริโภค กระตุ้นตัวเลข จีดีพี ชั่วคราว

ขณะนี้ กลุ่มที่เดือดร้อนที่สุดคือ sme เพราะรายได้ตกต่ำ และเมื่อบางรายหันไปกู้เงินจากนอกระบบซึ่งดอกเบี้ยสูงลิ่ว ก็จะเหมือนตกนรกทั้งเป็น

จึงทำให้มีนักธุรกิจรายเล็กรายน้อยถอดใจ ฆ่าตัวตายอยู่เนืองๆ อัตราฆ่าตัวตายในไทยสูงสุดในเอเซียอาคเนย์อยู่แล้ว คือ 14.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน สถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจยิ่งทำให้หนักขึ้น

ผลสำรวจพบว่า ในปี 2561 สัดส่วนคนไทยที่บอกว่าพอใจในมาตรฐานการครองชีพ มีเพียงร้อยละ 39 ซึ่งต่ำสุดในเอเซียอาคเนย์

ถามว่า ทำไมนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำให้ sme เดือดร้อน?

1.เน้นโครงการที่ให้ประโยชน์แก่นายทุนระดับชาติ รวมไปถึงการให้ความคุ้มครองอำนาจผูกขาดตัดตอนทางธุรกิจ

ดังเห็นได้ว่าตั้งแต่การปฏิวัติ ในผลสำรวจสากล กลุ่มคนรวยที่สุดในไทยล้วนมีฐานะร่ำรวยมากขึ้น

2. ความสามารถในการแข่งขันลดลงเนื่องจากค่าแรงสูงขึ้น ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น

3. เงินบาทที่แข็งทำให้รายได้ส่งออกลดลง

นโยบายเหล่านี้ทำให้รายได้กระจายลงไปรากหญ้าเกิดขึ้นน้อย และบัดนี้กำลังจะถูกซ้ำเติม ทั้งจากภัยแล้ง และจากไข้หวัดโควิด-19

บทความจบด้วยคำกล่าวของคนที่วิเคราะห์การเมืองไทยมานานว่า

“มันจะจบยังไง แต่ถ้าดูย้อนประวัติศาสตร์จะพบว่า การเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่มักจะระเบิดตูม”

ที่มา https://www.khaosod.co.th/politics/news_3771480