ฝรั่งเศส เซ่นโควิด 1,100 ศพ สธ.สั่งตรวจให้เกิน 9,000 ครั้งต่อวัน เล็งขยายเวลาห้ามออกที่พัก

ฝรั่งเศส เซ่นโควิด 1,100 ศพ สธ.สั่งตรวจให้เกิน 9,000 ครั้งต่อวัน เล็งขยายเวลาห้ามออกที่พัก


โควิด – ฝรั่งเศส / เมื่อวันที่ 25 มี.ค. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ประจำวันที่ 24 มี.ค. เวลา 14.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) มียอดผู้ป่วยสะสม จำนวน 22,300 ราย (เพิ่มขึ้น 2,444 ราย) รักษาอยู่ที่ รพ.จำนวน 10,176 ราย

-รักษาหายและออกจาก รพ.แล้ว จำนวน 3,281 ราย และกว่า 12,000 รายไม่ต้องเข้ารับการรักษาที่ รพ.และหายจากการป่วยได้เอง

– อาการหนัก 2,516 ราย (ร้อยละ 34 อายุน้อยกว่า 60 ปี และร้อยละ 58 อายุระหว่าง 60 – 80 ปี)

– เสียชีวิต 1,100 ราย (เพิ่มขึ้น 240 ราย โดยร้อยละ 85 อายุมากกว่า 70 ปี)

2. การแถลงข่าวสรุปสถานการณ์ประจำวัน

2.1 รมว ก. การศึกษาระดับสูง การค้นคว้าและนวัตกรรมฝรั่งเศสได้แถลงภายหลังการประชุมร่วมกับ คกก.ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์และวิจัย (CARE) ที่ทำเนียบประธานาธิบดีว่า ได้มีการหารือเกี่ยวกับเรื่องการรักษา การตรวจสอบการติดเชื้อและวัคซีน รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีช่วยแก้วิกฤต อาทิ การใช้ voice recognition ทางโทรศัพท์สำหรับผู้ที่หายใจไม่สะดวก

2.2 รมว. สาธารณสุขฝรั่งเศส แถลงว่า ฝรั่งเศสจะปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ให้ทำการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังสิ้นสุดมาตรการห้ามออกจากที่พัก และว่ายังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าจะบังคับใช้มาตรการห้ามออกจากที่พักนานเท่าใด โดยสภาผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์ (Le Conseil scientifique) เห็นว่าควรมีระยะ 6 สัปดาห์แต่ก็เป็นเพียงการประมาณการเท่านั้นซึ่งยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ จะสามารถยกเลิกมาตรการห้ามออกจากที่พักได้ก็ต่อเมื่อมีอัตราผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ลดลงเท่านั้น

2.3 อธิบดีกรมสาธารณสุขฝรั่งเศสแถลงว่า ปัจจุบันสามารถตรวจการติดเชื้อได้วันละ 9,000 ครั้ง และกำลังเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจและว่า รัฐบาลได้ตัดสินใจให้เพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยอาการวิฤตที่มีเครื่องช่วยพยุงชีวิต (reanimation) เตียงรักษาแบบ intensive และเตียงรักษาผู้ป่วยอาการหนัก ทั้งใน รพ. รัฐและเอกชน โดยตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ได้สั่งการให้ยกเลิกการผ่าตัดที่ไม่จำเป็นแล้ว และได้ปรับเตียงประเภทอื่น ๆ ให้สามารถให้การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส covid-19 ได้ รวมทั้งมีการแบ่งปันอุปกรณ์ทางการแพทย์ระหว่าง รพ. จนถึงขณะนี้มีเตียง reanimation จำนวน 8,000 เตียงแล้ว

นอกจากนั้น จะได้มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากพื้นที่ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากไปยังพื้นที่ที่มีผู้ป่วยน้อยกว่า โดยนอกจากกองทัพจะช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจาก Mulhouse และ Corse โดยเครื่องบิน Morphée และเรือ Le Tonnerre แล้ว SNCF จะให้ความช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจำนวน 20 ราย โดยรถไฟความเร็วสูงตั้งแต่วันพรุ่งนี้ จาก Strasbourg ไปยัง Pays de la Loire (รพ เมือง Anger, Nantes, Le Mans, La Roche sur Yon)

3. สถานการณ์สำคัญในฝรั่งเศส

3.1 เมื่อคืนวันที่ 23 มี.ค.2563 นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสได้ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ช่อง TF1 ว่า รัฐบาลต้องขยายระยะเวลาของมาตรการห้ามออกจากที่พัก (แต่ยังไม่ได้ระบุระยะเวลา) และจะเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการมากยิ่งขึ้น ได้แก่

– การออกจากที่พักเพื่อออกกำลังกายจะสามารถกระทำได้ไม่เกิน 1 กม. ห่างจากที่พัก ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง และต้องเป็นการออกกำลังกายโดยลำพัง

– ให้ปิดตลาดในพื้นที่เปิดทั้งหมด (outdoor market ซึ่งรวมถึงตลาดที่มีหลังคาปกคลุม แต่ไม่สามารถจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการได้) เว้นแต่จะได้รับการยกเว้นจากผู้ว่าราชการจังหวัด

– การออกจากที่พักด้วยเหตุผลด้านสุขภาพจะสามารถกระทำได้เพียงในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินทางสุขภาพ หรือตามใบนัดของแพทย์เท่านั้น (อาทิ กรณีต้องเดินทางไปฟอกไตเป็นประจำ)โดยมาตรการต่าง ๆ นี้จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.2563 เป็นต้นไป

3.2 เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คกก.ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์และวิจัย (Comité analyse recherche et expertise-CARE) เพื่อให้คำแนะนำแก่รัฐบาลเกี่ยวกับการรักษาและการตรวจการติดเชื้อไวรัส covid-19 ประกอบด้วยนักวิจัยและแพทย์จำนวน 12 รายโดยมีนาง Françoise Barré-Sinoussi ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับรางวัล Nobel ด้านการแพทย์ (การค้นพบไวรัสโรคเอดส์) เมื่อปี 2551 เป็นประธาน โดย คกก. จะปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส

3.3 รมว.เศรษฐกิจและการคลังฝรั่งเศสเรียกร้องให้กลุ่มผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารรายใหญ่หันมาซื้อผลิตผลและผลิตภัณฑ์อาหารจากเกษตรกรฝรั่งเศสเพื่อช่วยลดผลกระทบจากมาตรการปิดตลาดตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. เพื่อเป็นการแสดง “economic patriotism” และว่า วิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งนี้เทียบได้กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1929 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศสใน ปี 2563 และยิ่งมีมาตรการห้ามออกจากที่พักและปิดร้านค้านานขึ้นเท่าใด ก็จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

3.4 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ออกกฤษฏีกา ที่ 2020-293 ลงวันที่ 23 มี.ค. 2563 ปรับปรุงและรวบรวมมาตรการจำเป็นเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ในบริบทของความเร่งด่วนด้านสาธารณสุข

ที่มา https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_3816382