ไวรัสโคโรนา : เรื่องจริงจากหมอ ผู้อยู่แนวหน้าของสมรภูมิโควิด-19 ไวรัสโคโรนา : เรื่องจริงจากหมอ ผู้อยู่แนวหน้าของสมรภูมิโควิด-19 “หมอ มีคนไข้มารอ SWAB (เก็บตัวอย่างส่งตรวจ)…หมออยู่ไหน มาเลยได้ไหม อีกกี่นาที” นี่เป็นเสียงเรียกที่แพทย์หญิง ณ โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ได้ยินนับครั้งไม่ถ้วนในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยรุนแรงขึ้น แพทย์หญิงคนดังกล่าวบอกกับบีบีซีไทยว่าตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา “แพทย์อินเทิร์น” หรือแพทย์จบใหม่ที่มาทำงานในโรงพยาบาลแห่งนี้ ต้องผลัดกันมาเข้าเวรเพื่อเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยต้องสงสัยเข้าเกณฑ์โควิด-19 ในขณะที่แพทย์อินเทิร์นทุกคนยังต้องเข้าเวรเพื่อตรวจรักษาผู้ป่วยอื่น ๆ ตามปกติ ทำให้ภาระงานของพวกเขาและเธอเพิ่มขึ้นจนแทบไม่ได้หยุดพัก “เดือนที่แล้ว (กุมภาพันธ์) พบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ประมาณ 4-5 คนต่อเวร เวรหนึ่งประมาณ 8 ชั่วโมง แบ่งเป็นเวรเช้ากับเวรบ่าย แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนมากขึ้นนเป็นกว่า 20 คนต่อเวร” แพทย์หญิงวัย 25 ปี ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยโดยขอไม่เปิดเผยชื่อและโรงพยาบาลต้นสังกัด ที่มา อาการ การรักษา และ การป้องกันโรคโควิด-19 ยอดผู้ป่วยและเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาทั่วโลก เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 มีชีวิตอยู่บนผิวได้นานเท่าไร ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้สร้างความเสียหายต่อร่างกายเราได้อย่างไร ไม่เพียงงานเพิ่มขึ้น เข้าเวรเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาก็เพิ่มขึ้นด้วยท่ามกลางภาวะที่อุปกรณ์ป้องกันตัวที่ยังขาดแคลน และระบบคัดกรองผู้ป่วยที่มีช่องโหว่อยู่บ้างทำให้แพทย์มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานวันที่ 25 มี.ค. ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศไทยเพิ่มเป็น 934 ราย และมีผู้เสียชีวิต 4 ราย ในจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับการยืนยันในรอบ 2 วันที่ผ่านมา มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อแล้ว 6 ราย ทั้งแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหลายจังหวัด โดยสาเหตุหลักที่ทำให้แพทย์และพยาบาลติดเชื้อนั้นเป็นเพราะผู้ป่วยจำนวนหนึ่งปกปิดข้อมูลความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ตรวจรักษาโดยไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกันที่จัดเตรียมไว้สำหรับการตรวจผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดโควิด-19 ในภาวะที่บุคลาการทางการแพทย์กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากการติดเชื้อและปัญหาอุปกรณ์ป้องกันขาดแคลนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ต่อไปนี้เป็นคำบอกเล่าคุณหมอซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ท่ามกลางสมรภูมิการระบาดของโควิด-19 “เราจะป่วยไม่ได้” คุณหมอบอกว่าความเสี่ยงแรกที่เจอก็คือ เธอไม่มีทางรู้เลยว่าผู้ป่วยที่ตรวจรักษาหรือเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งนั้นติดเชื้อหรือไม่ จนกว่าผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการจะออกมา โดยเจ้าหน้าที่ผู้วิเคราะห์ผลจะเป็นคนโทรศัพท์มาบอกแพทย์เป็นรายบุคคลเพื่อให้รู้ถึงความเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยรายนั้น “เขาจะโทรมาแจ้งว่า คนไข้ที่เราตรวจไปวันที่นี้ติดเชื้อนะ ให้คุณหมอดูแลตัวเองด้วย ถ้ามีไข้ ไอหรือมีอาการทางระบบหายใจก็จะต้องไปตรวจคัดกรอง แต่ไม่ได้ให้ตรวจทันที” เธอกล่าว พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่น ๆ ที่สัมผัสกับผู้ป่วยเพราะเธอไม่มั่นใจว่านอกจากแพทย์แล้ว เจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้รับการแจ้งเตือนด้วยหรือไม่ ทั้งที่บุคลากรที่ต้องทำงานกับผู้ป่วยในโรงพยาบาลล้วนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเช่นกัน เธอเล่าว่าโรงพยาบาลแห่งนี้มีแพทย์อินเทิร์นทั้งหมด 24 คน ช่วงที่ผ่านมามีอย่างน้อย 2 คนที่ต้องกักตัว 14 วันเพราะมีอาการป่วยหลังจากตรวจรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานการณ์เช่นนี้ แพทย์หายไปเพียงคนเดียวก็ส่งผลกระทบมากแล้ว แต่นี่ถูกกักตัวถึง 2 คน ทำให้แพทย์ที่เหลือต้องทำงานหนักมากขึ้น “มันเหนื่อยแล้วก็หดหู่ขึ้นทุกวัน…ถ้าเพื่อนโดนกักตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ คนที่เหลืออยู่ก็ต้องเพิ่มงานไปเรื่อย ๆ จะมีวันไหนไหมที่มีใครสักคนมาทำหน้าที่แทนเรา ซึ่งพอคิดไปคิดมามันยากมากที่จะหาคนอื่นมาแทนได้นอกจาก (แพทย์) อินเทิร์นด้วยกันเอง มันบั่นทอนมากค่ะ” หมอระบายความรู้สึก เธอไม่ได้กลัวหรือหวาดระแวงที่จะต้องอยู่ใกล้ชิดผู้เสี่ยงติดเชื้อ แต่เธอเสนอว่าฝ่ายบริหารของโรงพยาบาลควรจัดกำลังคนที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งมาสลับสับเปลี่ยนบ้าง เพื่อแบ่งเบาภาระงานของแพทย์อินเทิร์น “เรารู้สึกว่าเราจะป่วยไม่ได้ เพราะถ้าเราป่วย เพื่อนที่เหลืออยู่เขาจะต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะแพทย์อินเทิร์นที่โรงพยาบาลมันไม่เพียงพอจริง ๆ” อีกหนึ่งความกังวลของแพทย์หญิงรายนี้คือเธอพักอาศัยอยู่ที่บ้านซึ่งมี “อาม่า” ที่อายุมากและมีโรคประจำตัว แต่ด้วยหน้าที่การงานที่ทำให้เธอต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงและต้องพบกับผู้เสี่ยงติดเชื้อ ทำให้เธอไม่มีทางเลือกอื่น สิ่งที่ทำได้มีเพียงการแยกตัวจากสมาชิกในครอบครัว ไม่ทานข้าวร่วมกับคนที่บ้าน และไม่ใกล้ชิดกับทุกคน และหมั่นล้างมืออยู่เสมอ ขณะที่ครอบครัวของเธอก็รู้สึกกังวลและเป็นห่วง คำอวยพรที่เธอได้รับก่อนออกจากบ้านไปทำงานทุกเช้าคือ “ขอให้โชคดีนะวันนี้ ขอให้ปลอดภัย” อุปกรณ์ ดี.ไอ.วาย วันใดที่คุณหมอเข้าเวร ทันทีที่ได้รับแจ้งว่ามีผู้ป่วยต้องสงสัยมาที่จุดคัดกรอง และทางจังหวัดอนุมัติให้ตรวจหาเชื้อแล้ว เธอจะรีบไปยังห้องความดับลบ (Negative Pressure Room) ซึ่งจะมีห้องสำหรับแต่งตัวก่อนที่จะเข้าไปหาคนไข้ที่รออยู่ เธอจะต้องสวมใส่ชุดป้องกันตัวเองหรือที่รู้จักกันว่า PPE (Personal Protective Equipment) สวมหน้ากากอนามัยชนิดป้องกันละอองขนาดเล็ก N95 และสวมถุงมือ ถุงเท้าให้มิดชิด เธอเปิดเผยว่าอุปกรณ์บางอย่าง “ถูกดัดแปลง” เพื่อประหยัดทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ตัวอย่างเช่นแผ่นพลาสติกป้องกันใบหน้า หรือ face shield ซึ่งตามมาตรฐานต้องเป็นแผ่นพลาสติกแข็ง แต่ขณะนี้สิ่งที่จัดหามาให้แพทย์ได้คล้ายอุปกรณ์ป้องกันใบหน้าแบบประดิษฐ์เอง (DIY) ที่ทำจากพลาสติกบาง ๆ ที่เธอบรรยายว่า “คล้ายพลาสติกหอปกรายงานเตอนเด็ก ๆ” เย็บติดกับแถบฟองน้ำรองบริเวณหน้าผากเท่านั้น ส่วนพยาบาลที่จะต้องเข้าไปช่วยเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยกันนั้นก็ไม่ได้ใส่ชุด PPE เหมือนกับที่แพทย์ใส่ แต่ใส่เพียงชุดคลุมพลาสติกคล้ายชุดกันฝน “จริง ๆ แล้วพยาบาลสัมผัสคนไข้ใกล้ชิดและนานกว่าเราด้วยค่ะ…เคยร้องเรียนเรื่องนี้ไปทางผู้ใหญ่ เขาก็แจ้งว่าทรัพยากรไม่พอจริง ๆ เขาคิดว่าชุด PPE จำเป็นสำหรับแพทย์เพราะต้องสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง แต่การที่พยาบาลไปอยู่ในห้องนั้น เขาก็มีความเสี่ยงไม่ต่างจากเรา” เธอเล่าถึงปัญหาความขาดแคลนของอุปกรณ์ คุณหมอเล่าด้วยว่า ช่วงเดือนแรกของการแพร่ระบาด เธอยังพอมีเวลาพักระหว่างรอตรวจคนไข้รายต่อไป แต่ในช่วงนี้แทบไม่มีเวลาพักเลย บางครั้งถอดชุด PPE ที่ตรวจผู้ป่วยคนหนึ่งไปได้ไม่กี่นาที ก็ต้องกลับเข้าไปสวมชุดใหม่สำหรับตรวจผู้ป่วยต้องสงสัยรายต่อไปแล้ว สิ่งที่เธอบอกผู้ป่วยต้องสงสัยหลังเสร็จสิ้นการเก็บตัวอย่างก็คือ “ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเป็นหรือไม่เป็น (โควิด-19) นะ แต่อาจจะต้องคิดว่าตัวเองเป็นไว้ก่อน เพราะจะทำให้เราสามารถป้องกันการแพร่กระจายไปสู่คนอื่นได้” “อยากให้มันเข้าสู่ภาวะปกติเสียที อยากจะให้หยุดการแพร่กระจายโรคให้ได้ดีกว่านี้” เธอบอก แม้จะรู้ดีว่ามันไม่ง่ายและน่าจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติ ที่มา https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_3821294 Post Views: 6