ดราม่าขนมอาลัว! ชาวเน็ตตั้งคำถามเหมาะสมหรือไม่? ด้านทนายเผยเข้าข่ายผิดกฎหมาย ดูหมิ่นเหยียดหยามวัตถุ

กำลังเป็นประเด็นดราม่าในโลกโซเชี่ยลเมื่อมีร้านขนมจากเฟซบุ๊กได้ทำขนมอาลัว ขนมไทยที่คนไทยคุ้นเคยมายาวนาน มาปรับเปลี่ยนรูปแบบโดยใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปจนกลายมาเป็นอาลัวพระเครื่อง งานนี้ทำเอาชาวพุทธทั้งหลายออกมาตั้งคำถามว่า นี่มันเหมาะสมแล้วหรือ?

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 โลกออนไลน์ทำการแชร์ภาพขนมจากเฟซบุ๊ก มาดามชุบ เป็นเพจขายขนมแฮนด์เมด ซึ่งโพสต์ดังกล่าวเป็นโพสต์ขนมอาลัว แต่แปลกไปจากเดิมตรงที่มันมีรูปทรงเป็นพระเครื่อง บอกเลยว่าเหมือนจริงซะอยากจะเอามาห้อยคอ บูชามากกว่าเอามากินซะอีก

บอกเลยว่าไม่ใช่แค่ทำเป็นพระเครื่องทั่ว ๆ ไป แต่ทางร้านมีพิมพ์ที่เป็นรูปทรงของพระเครื่องในรุ่นต่าง ๆ เช่นพระสมเด็จ พระขุนแผนและอีกมากมาย แถมยังมีการแปะทองเพิ่มความสมจริงอีกด้วย แถมตอนส่งยังใส่ซองอีก บอกเลยว่าเหมือนมาก อย่าเผลอเอาไปวางใกล้ ๆ พระเครื่องของจริงเชียว เดี๋ยวแยกไม่ออก

ทางร้านบอกว่าขนมอาลัวของทางรา้น เป็นรสออริจินัลควันเทียน หากลูกค้าไม่กล้าเอาเข้าปาก ทางร้านมีรูปแบบอื่น ๆ ด้วย ซึ่งต้องสั่งล่วงหน้าเท่านั้น ส่วนทีมงานก็มีเพียงลูกสาววัย 6 ขวบ ซึ่งตอนนี้ออร์เดอร์เข้ามาเยอะจนทำกันไม่ทันแล้ว

ขณะที่ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ วัดสร้อยทอง ได้แชร์โพสต์ดังกล่าวเช่นกัน พร้อมระบุว่า “รุ่นนี้มีไว้ไม่อด หิว ๆ ก็หยิบมากินได้ เรียกว่ารุ่นกูให้มึงอิ่มท้อง”

งานนี้ชาวเน็ตต่างเข้ามาแซวด้วยความสนุกสนานเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่วายมีดราม่าตามมา เพราะมีชาวเน็ตอีกกลุ่มบอกว่ามันไม่เหมาะสมอย่างแรง! เหมือนเอาพระเอาเจ้ามาเล่น ต่างคนต่างมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป

จากนั้นนายอานนท์ เชื้อสัตตบงกช ทนายความได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในกรณีขนมอาลัวว่า กรณีนี้หากจะมองในแง่กฎหมาย ก็อาจถือได้ว่าการทำขนมแบบนี้เข้าข่ายที่จะมีความผิด ฐานดูหมิ่นเหยียดหยามวัตถุ หรือสถานที่เคารพ ตาม ปอ.ม.206 ได้ เพราะคำว่าวัตถุหรือสถานที่เคารพ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นใครจัดสร้าง และต้องเป็นของแท้แน่นอนจากวัดประการใด

แต่การนำวัตถุซึ่งเป็นรูปพระเครื่องซึ่งหมายถึงตัวแทนพระพุทธเจ้า มาทำเป็นขนมรับประทานกัดกินแบบนี้ ยอมเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีได้ เพราะเจตนาของ กฏหมายข้อนี้มุ่งคุ้มครองความรู้สึกของชาวพุทธมากกว่า มิได้มุ่งคุ้มครองวัตถุที่สร้างขึ้นจากวัดจริงๆ

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 ผู้ใด กระทำด้วยประการใดๆ แก่ วัตถุ หรือ สถาน อันเป็นที่เคารพ ในทางศาสนา ของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยาม ศาสนานั้น ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 7 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 14,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา : Kapook, Khaosod, มาดามชุบ