วันที่ 8 มี.ค.2567 นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง
ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยามีประกาศฉบับที่ 3 (54/2567) แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่
ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมีพายุฤดูร้อน โดยมีพื้นที่เฝ้าระวัง สถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ระหว่างวันที่ 8-10 มี.ค.ดังนี้
ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่
น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์นครสวรรค์ และอุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่
เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง 23 จังหวัด ได้แก่
กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ
กอปภ.ก โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงประสานแจ้ง 43 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว
โดยติดตามสภาพอากาศ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง
หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกร ให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย
สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามข้อมูลสถานการณ์ และปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนจากทางราชการอย่างเคร่งครัด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นในระยะนี้