เปิดแอร์ตอนกลางวันเย็น แต่พอนอน ๆ อยู่ ตอนใกล้เช้า กลับร้อนจนเหงื่อออก ไม่สบายตัว เกิดจากอะไร ทั้งที่อุณหภูมิเท่ากัน ก่อนมีคนมาชี้ทางออกของปัญหา วิธีการแก้ที่ง่ายนิดเดียว เมื่อรู้ปัญหา แก้ได้อยู่หมัด
ทุกวันนี้การเปิดแอร์นอน ถือเป็นสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ทำกันทั้งประเทศ ท่ามกลางอากาศร้อนแบบนี้ ใครจะไปทนนอนพัดลมไหว อบอ้าวสุด ๆ ช่วงที่นอนควรเป็นช่วงที่สบายตัว ตื่นเช้ามาจะได้สดชื่นสำหรับวันใหม่
วันที่ 29 มีนาคม 2567 เฟซบุ๊ก เออ นั่นดิ มีการตั้งคำถามจากการใช้แอร์ว่า แอร์ที่ห้อง เวลาเปิดตอนกลางวันนั้นค่อนข้างเย็น แต่พอตอนกลางคืนใกล้เช้า ๆ รู้สึกว่าแอร์ร้อน จนคนนอนมีเหงื่อ เรื่องนี้เกิดจากอะไร ปัญหานี้ยอมรับว่าเกิดขึ้นในบางวัน
เรื่องนี้ มีคนอธิบายไว้ชัดว่า อุณหภูมิภายนอกห้องกับในห้อง มีผลต่อการทำความเย็นของแอร์ ถ้าเราตั้งอุณหภูมิภายในสูงกว่าภายนอก เช่น อุณหภูมิภายนอก 20 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิที่เราตั้งอยู่ในห้องคือ 25 องศาเซลเซียส แอร์จะตัดการทำงาน จึงส่งผลให้ช่วงเช้าที่อากาศเย็น ๆ เราอาจจะสะดุ้งตื่นเพราะรู้สึกร้อนกว่าปกติ
แต่ถ้าอุณหภูมิภายในห้องต่ำกว่าด้านนอก เช่น อุณหภูมิภายนอก 30 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิที่เราตั้งอยู่ในห้องคือ 25 องศาเซลเซียส แอร์จะรักษาอุณหภูมิให้คงที่ไว้ตลอด ซึ่งแบบนี้แอร์จะทำงานไปเรื่อย ๆ และยิ่งอุณหภูมิภายนอกสูงเท่าไร แอร์จะยิ่งทำงานหนัก และกินไฟมากขึ้นเท่านั้น
มีอีกหนึ่งความเห็นเข้ามาเสริมว่า ในช่วงใกล้สว่าง อากาศจะเย็น อุณหภูมิข้างนอกกับข้างในห้องจึงใกล้เคียงกัน ทำให้มีความรู้สึกว่าแอร์ร้อนขึ้น ทางแก้นั้นง่ายมาก เพียงแค่ปรับอุณหภูมิให้ต่ำลงกว่าเดิม แอร์ก็จะกลับมาทำงานให้เย็นอีกครั้ง
บางคนก็มองว่า แอร์ที่เจ้าของโพสต์ใช้นั้น อาจจะเป็นระบบแอร์อินเวอร์เตอร์ ซึ่งมีเซ็นเซอร์คลายร้อน พออุณหภูมิข้างนอกเย็น คอมแอร์เลยไม่ทำงาน ทางแก้ก็ตามที่คอมเมนต์อื่น ๆ บอกไปคือ กดอุณหภูมิให้ต่ำลง
ส่วนคอมเมนต์ฮา ๆ ก็มี เช่น ให้ดูที่อุณหภูมิแอร์ก่อน ถ้ายังคงปกติ ต้องกลับมาดูตัวเองว่าเป็นวัยทองหรือเปล่า ข้างในมันร้อนรุ่ม แต่ถึงจะเป็นคอมเมนต์ที่เป็นแนวฮา แต่ก็มีคนมาตอบอย่างจริงจังว่า เห็นด้วย เคยไปหาแพทย์แผนจีน เช็กหยินหยางของตัวเอง พบว่า เป็นเลือดลมร้อน ยิ่งวันไหนกินของที่มีฤทธิ์ร้อน ร่างกายภายในจะร้อนมาก ทั้งที่เปิดแอร์อุณหภูมิ 25 องศาทุกวัน ผ้าห่มแบบเดิม บางวันก็ร้อน บางวันก็พอดี จนไปหาหมอถึงรู้