แบงก์พันปลอม ระบาดหนัก 2 จังหวัด ร้านค้าสุดระทม ตื่นมาก็โดนเลย เตือนภัยสังคม เปิดวิธีสังเกตความแตกต่างอันไหนของจริง อันไหนของปลอม
วันที่ 4 เม.ย.2567 จากกรณีโลกออนไลน์ใน จ.สมุทรสงคราม ได้ออกมาเตือนภัยสังคม กรณีแบงก์พันปลอมระบาดในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม และ จ.ราชบุรี จึงลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง บริเวณริมถนนปากท่อสายเก่า ต.วัดประดู่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
เมื่อไปถึงพบ นางสาหร่าย (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 63 ปี เจ้าของร้านอาหารตามสั่ง ซึ่งเป็น 1 ในผู้เสียหาย และ น.ส.สายสุนีย์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 42 ปี ลูกสาว ซึ่งกำลังยุ่งกับการทำอาหารเสิร์ฟลูกค้า ก่อนจะมาแนะนำการแยกแบงก์พันของจริงกับของปลอมให้ดู
นางสาหร่าย กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนขายอาหารตามสั่งต้องรับแบงก์ 1,000 บาท วันละเกือบ 10 ใบ แล้วก็ต้องทอนแบงก์จริงไปให้ลูกค้า มารู้อีกทีก็ช่วงเช้าไปจ่ายตลาด จ่ายเงินไป 7,700 บาท
นางสาหร่าย กล่าวต่อว่า กระทั่งกลับมาบ้าน แม่ค้าก็บอกว่าเงินที่ตนจ่ายไปมีแบงก์ปลอมปนอยู่ ตนจึงรีบไปดูก็เพิ่งรู้ว่ามีแบงก์ 1,000 บาทปนอยู่จริง ซึ่งตนก็จำไม่ได้ว่ารับจากใคร เพราะแต่ละวันจะต้องรับแบงก์ 1,000 บาท เกือบ 10 ใบ พอได้ก็ใส่ในกระเป๋าสตางค์ทันที จึงไม่ทันสังเกต
นางสาหร่าย กล่าวอีกว่า นอกจากตนแล้วยังมีร้านค้าอีกหลายร้านบริเวณถนนปากท่องสายเก่า ทั้งใน จ.สมุทรสงคราม และ ราชบุรี ที่โดนแบงก์ 1,000 ปลอมเช่นกัน ทั้งนี้ ฝากเตือนพ่อค้าแม่ค้าหากได้รับแบงก์ 1,000 มาก็ตรวจสอบให้ดี
นางสาหร่าย กล่าวด้วยว่า โดยตนสังเกตความแตกต่างแบงก์ 1,000 จะมีสีแตกต่างกัน แบงก์ปลอมจะออกม่วงอ่อน ภาพไม่ค่อยชัด กระดาษจะนิ่มกว่าแบงก์จริง และเมื่อนำปากกาตรวจสอบธนบัตรก็จะชัดเจนว่าถ้าเป็นธนบัตรปลอมสีปากกาจะเป็นสีน้ำตาล หากเป็นธนบัตรจริงเมื่อเขียนด้วยปากกาดังกล่าวสีจะจางเป็นสีเหลือง