วิธีคาดคะเนอายุของน้องแมว

วิธีคาดคะเนอายุของน้องแมว

หากคุณรับน้องแมวมาเลี้ยงหรือมีคนให้น้องแมวมา คุณอาจจะไม่รู้ว่าเค้าอายุเท่าไร ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ พาน้องแมวไปหาสัตวแพทย์เพื่อให้คาดคะเนอายุให้ วันนี้เราลองมาดูกันว่าสัตวแพทย์มีวิธีคาดคะเนอายุน้องแมวอย่างไร เผื่อบางทีเราอาจจะคาดเดาอายุของน้องแมวแบบคร่าวๆได้ด้วยตัวเอง…

การคาดคะเนอายุน้องแมวดูได้จาก

ฟัน

ถ้าลูกแมวเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้น แสดงว่ามีอายุประมาณ 3 สัปดาห์ และจะมีฟันน้ำนมทั้งหมด 26 ซี่เมื่ออายุประมาณ 6 สัปดาห์ เมื่ออายุ 3- 6 เดือน ฟันน้ำนมจะเริ่มหลุดและฟันแท้จะเริ่มขึ้นมาแทนที่ ถ้าฟันแท้ขึ้นครบทั้งหมด สัตวแพทย์จะตั้งสมมุติฐานเบื้องต้นว่าน้องแมวมีอายุไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และถ้าฟันสะอาดและคม น้องแมวอาจมีอายุต่ำกว่า 2 ปี อย่างไรก็ตาม ถ้าน้องแมวอายุมากกว่า 2 ปี อาจเป็นการยากที่จะคาดคะเนอายุจากฟัน

ขนและกล้ามเนื้อ

หลังจากดูที่ฟันแล้ว สัตวแพทย์จะดูที่ขนและกล้ามเนื้อ โดยปกติน้องแมวที่อายุน้อยจะมีขนที่มันเงาและจะมีกล้ามเนื้อขาและหลังที่แข็งแรง น้องแมวที่อายุ 10-14 ปี จะเริ่มมีปัญหาการย่อยโปรตีนและไขมัน ส่งผลให้มีกล้ามเนื้อน้อยลงและมีน้ำหนักลดลง และสำหรับน้องแมวที่อายุมากก็จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคข้ออักเสบ ซึ่งจะมีผลต่อการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่สามารถทำความสะอาดตัวเองได้ ส่งผลให้ขนด้านและไม่มันเงา

ผลเลือด

นอกจากการตรวจเช็คทางกายภาพแล้ว การตรวจเลือดก็สามารถช่วยให้คาดคะเนอายุของน้องแมวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้องแมวที่อายุประมาณ 10 ปีที่มักจะมีปัญหาในเรื่องการทำงานของไต ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินในอีก 1-2 ปีต่อมา

การเทียบอายุน้องแมวกับอายุคน

น้องแมวจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีแรกของชีวิต จากนั้นก็จะเติบโตช้าลงเรื่อยๆ ดังนั้นในช่วงสุดท้ายของปีแรก น้องแมวจะอยู่ในช่วงเจริญเติบโตซึ่งเทียบได้กับคนอายุ 10-15 ปี และเมื่อน้องแมวอายุ 2 ปี น้องแมวจะอายุเทียบได้กับคนอายุ 25 ปี และหลังจากนั้นน้องแมวก็จะเจริญเติบโตอย่างช้าๆ โดยจะมีอายุเพิ่มขึ้น 4-5 ปี(คน) ทุกๆ 1 ปี เช่นถ้าน้องแมวอายุ 6 ปี ก็จะเทียบได้กับคนที่อายุ 41-42 ปี นั่นเอง

การเทียบอายุน้องแมวกับอายุคน ไม่เพียงจะช่วยให้คุณใส่ใจน้องแมวมากขึ้น แต่ยังช่วยให้เห็นความสำคัญของการพาน้องแมวไปตรวจเช็คร่างกายอย่างสม่ำเสมออีกด้วย เพราะในหนึ่งปีของชีวิตน้องแมวนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากมาย ดังนั้นถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับน้องแมว คุณก็ช่วยเหลือเค้าได้ทันท่วงทีแบบสบายใจหายห่วง

ที่มา honestdocs

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *