หมู่บ้านจัดสรรหรู ร้อง มัสยิดเรียกละหมาดเสียงดัง ทำเสียสุขภาพ อิหม่ามแจง ตั้งมา 60 กว่าปีแล้ว
จากกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ “เตือนภัย ซื้อบ้านในโครงการมหาชน เซลส์ไม่ได้แจ้ง เสียงละหมาดให้เราทราบ เสียงละหมาดทำเราเสียสุขภาพมาก ตอนกลางคืนไม่สามารถนอนหลับได้ต้องไปหาหมอ หมอจ่ายยานอนหลับมาสองปีเต็ม ตอนกลางวันก็ได้ยินเสียงห้าเวลา เสียงดังมากเปิดทีวียังแทบไม่ได้ยินเสียงทีวีเลย มีวิธีแก้ไขปัญหานี้อย่างไรดีครับ บ้านของเราอยู่ห่างจากมัสยิดราวหนึ่งกิโล แต่เสียงยังทะลุทะลวงเข้ามาในตัวบ้าน ร้องเรียนไปที่เขต ที่เขตก็ปัดท่าทีความรับผิดชอบ พนักงานที่เขตเป็นมุสลิมเกือบหมด เราจะมีวิธีแก้ปัญหากรณีนี้อย่างไรดีครับ โครงการใช้ชื่อชัยพฤกษ์วงแหวนครับ”
ต่อมาลูกบ้านหมู่บ้านดังกล่าวได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปที่ เพจสายไหมต้องรอด และเพจกล้าที่จะก้าว
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 พฤษภาคม น.ส.อินทร์ชญาร์ สีสังข์ นายสมศักดิ์ ชมชาติ ทีมงานเพจสายไหมต้องรอด และนายอธิวัฒน์ สิริกังวาลวงศ์ ผู้ก่อตั้งเพจกล้าที่จะก้าว ลงพื้นที่ตรวจสอบที่หมู่บ้านดังกล่าว ตั้งอยู่ติด ถ.บางกรวย-ไทรน้อย หมู่ 11 ต.บางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ที่อาคารนิติบุคคลหมู่บ้านพบกับ น.ส.ธนัญรินทร์ (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี และนายณัฐพล (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี พร้อมด้วยลูกบ้านอีกประมาณ 10 คน เป็นตัวแทนลูกบ้านหมู่บ้านดังกล่าว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรดังกล่าว เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง
น.ส.เอ (นามสมมุติ) เจ้าหน้าที่นิติบุคคลหมู่บ้าน เปิดเผยว่าในหมู่บ้านมีบ้านทั้งหมด 308 หลัง เป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้นทั้งหมด ห่างจากมัสยิดประมาณ 500 เมตร ซึ่งลูกบ้านได้นำหลักฐานเป็นคลิปเสียงจากมัสยิด เรียกว่าการอาซาน เชิญชวนทำพิธีละหมาด ล่าสุดเมื่อเวลา 12.00 น.วันนี้ โดยมีความยาวประมาณ 2 นาที ซึ่งในแต่ละวันจะมีเสียงเชิญชวนไปละหมาดวันละ 5 รอบ ซึ่งเป็นวิถีชุมชนอิสลามดั้งเดิมของมัสยิดนูรุสซาอาดะห์ หมู่ 11 ต.บางบัวทอง อ.บางบัวทอง
น.ส.เอ (นามสมมุติ) เจ้าหน้าที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร กล่าวว่า เขาจะเปิดลำโพงครั้งละประมาณ 3-4 นาที จากนั้นเขาจะใช้ลำโพงตัวใน ในการทำพิธี ซึ่งตนจะไม่ได้ยินเสียง ที่ตนได้ยินคือเขาเรียกวันละ 5 ครั้ง ส่วนที่เขาใช้เครื่องขยายเสียงเรียกเพื่อให้ละหมาดตนไม่ทราบ และไม่ได้สอบถามเขา เท่าที่ทราบมาทางเซลส์มีการแจ้งลูกบ้านตอนเวลาที่ขาย ว่าแถวนี้มีการใช้เสียงของสุเหร่า แต่ไม่รู้ว่าเซลส์คนไหน ไม่สามารถให้ข้อมูลได้
น.ส.อินทร์ชญาร์ สีสังข์ ตัวแทนเพจสายไหม กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีการใช้เสียงจากมัสยิดที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้าน จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ เพราะเวลาพักผ่อนมีเสียงดังมาก จากหลักฐานชัดมาก จึงลงดูพื้นที่ว่าจะแก้ตรงไหนได้ เพื่อจะได้อยู่กันได้อย่างตลอดไป และไม่มีปัญหาภายหลัง
น.ส.เอ เจ้าหน้าที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร กล่าวอีกว่า ได้ไปคุยกับตัวแทนสุเหร่า เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางสุเหร่าเขาจะเปิดลำโพงวันละ 5 เวลา คือ ช่วงเวลาตี 4 สายๆ เที่ยง เย็น และช่วงหัวค่ำ เขาบอกว่าขอเวลาการดำเนินงาน 1 เดือนว่าผลที่ทำเป็นอย่างไร ถ้าลูกบ้านไม่พึงพอใจ จะให้ติดต่อไปเพื่อจะเข้ามาตรวจวัดระดับเสียงอีกครั้งหนึ่ง ให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งหน่วยงานราชการบอกว่าทำได้แต่ขอเวลาประมาณ 6 เดือน
เจ้าหน้าที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร กล่าวว่า ตอนนี้เขาปรับระดับเครื่องเสียงเหลือระดับ 2 จาก 5 ระดับ ก็จะรอดูอีกครั้งหนึ่งว่าจะยังไง เดิมที่เขาบอกปรับเสียงไม่ได้ เพราะเป็นเครื่องเสียงที่เขาล็อกระดับเสียงไว้ เวลาจะปรับระดับเสียงต้องให้คนนั้นมาเซตระบบให้ แต่ถ้าลูกบ้านยังติดใจสงสัย เขาอนุญาตให้ลูกบ้านเข้าไปดูได้ และขอให้มั่นใจได้เขาจะไม่มีการปรับเสียงเพิ่มขึ้น เพราะทางบริษัทที่เขาขายลำโพงจะเป็นผู้มาปรับระดับเสียงเอง ส่วนทางเทศบาลเขาแจ้งว่าต้องศึกษาก่อนว่าใครอยู่มาก่อน ซึ่งเรื่องนี้ทางชาวบ้านอิสลามเขาอยู่มากันเป็นร้อยปีแล้ว ทางหมู่บ้านก็เข้าใจ
น.ส.บี (นามสมมุติ) ลูกบ้าน กล่าวว่า ที่สุเหร่ามีลำโพงอยู่ทุกทิศ บ้านตนอยู่ไกลมากยังมีเสียงเข้ามาในห้องนอน รบกวนมากโดยเฉพาะเวลากลางคืน ยิ่งช่วงเดือนรอมฎอนด้วยดังมาก แต่ผ่านมาแล้ว ลูกตนยังเล็กๆ อยู่ออกไปขี่จักรยานหน้าบ้าน แต่เสียงลำโพงเขา มันโหยหวนจนเด็กยังกลัว
ด้าน น.ส.อินทร์ชญาร์ (สงวนนามสกุล) เจ้าของบ้านหลังหนึ่ง กล่าวว่า ตอนที่มาซื้อบ้านหลังนี้ ทางเซลส์ไม่ได้แจ้งว่ามีสุเหร่า แต่ตนเองได้สำรวจพื้นที่ว่าตรงนี้มีวัดไหม มีสุเหร่าไหม อยู่ใกล้โรงพยาบาลหรือเปล่า ซึ่งตอนแรกได้ยินเสียงก็พอรับได้ ไม่ได้ดังขนาดตอนนี้ ที่ดังมากเลยวันละ 5 เวลา ตั้งแต่ 04.30 น.จนถึง 19.00 น.20.00 น. ซึ่งเสียงรบกวนต่อสุขภาพและการทำงานของตน ที่ทำงานแบบ work from home ต้องใช้สมาธิในการทำงานก็มีเสียงละหมาดเข้ามา ทำให้เกิดสมาธิหลุดไปบ้าง
น.ส.อินทร์ชญาร์กล่าวอีกว่า ตนเข้าใจว่าการละหมาด 5 เวลาของเขาเป็นไปตามหลักของศาสนา ตนไม่ได้ห้ามว่าละหมาดไม่ได้ ตนเคารพในศาสนาของเขาอยู่แล้ว ซึ่งทุกศาสนาก็มีประเพณีต่างกันไป แต่ปัจจัยหลักคืออยู่ที่ระดับเสียง ถ้าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ทางมัสยิดเบาเสียงลงหน่อยได้ไหม ทั้งวัดก็เบาเสียงลงหน่อยได้ไหม ไม่เกี่ยวกับศาสนาใดๆ เลย เป็นเรื่องของเสียง ก็อยากให้เขาปรับเสียงลงเพราะบางคนทำงานเลิกมาดึกก็นอนไม่ได้เลยกว่าจะนอนตี 2 ตี 3 พอตี 4 เสียงละหมาดเข้ามาแล้ว บางคนนอนไม่ได้ก็ต้องกินยานอนหลับเป็นเวลาต่อเนื่อง 2 ปีแล้ว บางบ้านมีเด็กทำให้เด็กๆ ร้องตอนกลางคืน หรือคนแก่พักผ่อนไม่เพียงพอ
น.ส.อินทร์ชญาร์ กล่าวว่า เบื้องต้นตอนนี้ผู้จัดการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ได้ไปทำเรื่องกับเทศบาลแล้ว หน่วยเทศบาลจะไปคุยกับทางมัสยิดให้ลดระดับเสียงลง จากเสียงระดับ 4 ก็จะเหลือระดับ 2 แต่จะหันลำโพงไปด้านอื่นหรือไม่ ไม่แน่ใจ ก็จะรอดูผล 15 วัน หรือ 1 เดือนว่าได้มีการปรับปรุงอย่างไรบ้าง และจะสอบถามเพื่อนบ้านว่าตอนที่มาซื้อบ้านได้มีการแจ้งไหมว่า มีมัสยิดนะ มีการส่งเสียงดังรับได้ไหม ส่วนตัวเองเซลส์ไม่ได้แจ้ง
นายอธิวัฒน์ สิริกังวาลวงศ์ ผู้ก่อตั้งเพจกล้าที่จะก้าว กล่าวว่า ทางเพจได้ประสานกับนายกเทศมนตรีเมืองใหม่บางบัวทอง และจะประสานกับนายอำเภอบางบัวทองเพื่อหาออกร่วมกัน เพราะเรื่องศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเกี่ยวกับความมั่นคงด้วย จะให้เร็วที่สุดไม่เกิน 2 วัน แล้วจะเชิญทางตัวแทนของหมู่บ้าน และนิติบุคคล กับโต๊ะอิหม่ามและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าประชุมหารือหาทางออกร่วมกัน อยากให้อยู่กันแบบสมานฉันท์ ส่วนเรื่องการเยียวยาลูกบ้านเดี๋ยวจะให้ทางเพจสายใหม่ต้องรอดประสานกับทาง สคบ.กลาง จะให้ตัวแทนของหมู่บ้านไปสำรวจมาก่อนที่จะซื้อรู้หรือไม่ ว่ามีมัสยิดอยู่ข้างหมู่บ้าน ทั้งหมดเลย 308 หลัง หลังจากนั้นก็จะให้ สคบ.ลงพื้นที่มาตรวจสอบข้อเท็จจริง
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นายวันชัย ระดิ่งหิน อิหม่ามประจำมัสยิดนูรุสซาอาดะห์ ต.บางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี กล่าวว่า การละหมาดวันละ 5 ครั้ง คือตอนเช้านอนตื่นนอนเวลาประมาณ 04.30 น. และละหมาดบ่าย และตอนตะวันคล้อย ประการต่อมาช่วงตะวันตก และไปอีกครั้งตอน 20.00 น. ซึ่งเป็นภาคบังคับที่มุสลิมทุกคนต้องทำ สำหรับตัวบุคคลที่ศาสนาระบุมา ส่วนการใช้ลำโพงขยายเสียง เป็นเสียงป่าวประกาศที่ออกไปดังรอบด้านทั้งหมด จะใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที แต่เวลาละหมาดจริงๆ จะไม่ได้ใช้เครื่องขยายเสียงภายนอกแล้ว จะใช้เครื่องเสียงภายใน ซึ่งทำไว้หลายระบบของเครื่องขยายเสียง
นายวันชัยกล่าวอีกว่า การที่ใช้ลำโพงกระจายเสียงออกไปภายนอก เหมือนการเตือนชาวมุสลิมว่าใกล้เวลาจะละหมาดแล้ว ชาวบ้านบางคนเขาก็คอยเวลาแต่งตัวคอย เมื่อได้เวลาทางสุเหร่าก็ประกาศเขาก็จะทำหน้าที่ของเขา บางครั้งการละหมาดเขาบังคับให้มาออกเสียงก็มี ไม่ออกเสียงก็มี แต่อันนี้ไม่ได้ออกกระจายเสียงไปเป็นการใช้เสียงภายใน ก็ไม่ได้เกี่ยวกันแล้ว ถ้าเป็นคนมุสลิมภาคบังคับผู้ชายก็ตั้งแต่อายุ 15 ปี ผู้หญิงก็ตั้งแต่มีประจำเดือน เป็นภาคบังคับที่ต้องทำทุกคน
นายวันชัยกล่าวว่า สุเหร่าแห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ปี 2505 แต่สมัยก่อนตอนปู่ย่าตายายตั้งอยู่ที่โรงกระโจม ต่อมาผู้ใหญ่และผู้อาวุโสเห็นว่าเดินทางไปมายากลำบาก จึงมาสร้างอยู่ตรงนี้ 60 กว่าปีแล้ว ก็มีการปฏิบัติอย่างนี้มาตลอด เครื่องเสียงก็จะปล่อยแบบนี้มา 50-60 ปี แต่อาจจะมีเสียงดังนิดนึงค่อยบ้างเป็นปกติ จะพูดอย่างนั้นก็ไม่ค่อยถูก จะเล่าให้ฟังเมื่อก่อนมีหมู่บ้านอยู่ตรงนี้เขาก็ร้อง ไปถามก็มีคนมุสลิมอยู่กัน ถามเขาก็บอกว่าเสียงไม่ได้ดังก็เลิกกันไป