(13ม.ค.68) ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียกให้ผู้แทนบริษัทมือถือบริษัทมือถือ บริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ฟ จำกัด (OPPO) และบริษัท โปรทา จำกัด (Realme) เข้าชี้แจงกรณีแอปฯ สินเชื่อความสุข และ Fineasy ถูกติดตั้งมาระบบปฏิบัติการ System App บนสมาร์ตโฟน โดยแอปฯ ดังกล่าวถูกติดตั้งมาตั้งแต่โรงงานผู้ผลิต โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ใช้งาน โดยมีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลบุคคล (สคส.) และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ร่วมซักถามและรับฟังคำชี้แจง ก่อนจะมีการขยายผลถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง
ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการหารือดังกล่าวว่า นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ และรองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เบื้องต้นผู้แทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยอมรับว่า โทรศัพท์มือถือที่ผลิตตั้งแต่ปี 2566 บริษัทได้ติดตั้งแอปพลิเคชันมากับตัวเครื่องตั้งแต่เครื่องออกจากโรงงาน และยอมรับว่าไม่ได้ขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับการติดตั้งแอปพลิเคชันทั้งสองดังกล่าว บริษัทต้องการตรวจสอบเรื่องนี้อีกครั้ง โดย กสทช.จะให้ผู้แทนจำหน่ายโทรศัพท์กลับไปหาแนวทางเยียวยาและแก้ไขปัญหาและส่งข้อมูลกลับมาให้ กสทช.ภายในวันที่ 16 มกราคมนี้
ส่วนการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้สั่งให้หยุดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ OPPO และ Realme แล้ว และหากประชาชนที่ใช้โทรศัพท์ทั้งสองแบรนด์อยู่ สามารถเข้าไปลบแอปพลิเคชันสินเชื่อความสุขได้ด้วยตัวเอง ส่วนแอปพลิเคชัน Fineasy ต้องประสานให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ของโทรศัพท์ก่อนจึงจะสามารถลบแอปพลิเคชันได้ คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน
ด้าน พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ สคส. บอกว่าจากการหารือวันนี้จะต้องนำข้อมูลจากผู้แทนจำหน่ายที่จะส่งมอบให้ในวันที่ 16 มกราคม มาตรวจสอบ เนื่องจากแอปพลิเคชันที่ติดตั้งมาอาจเป็นการเข้าถึง หรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้โดยมิได้รับความยินยอม และอาจสร้างความเสียหายได้ ขอข้อมูลส่วนบุคคลของแอปฯ กู้เงิน ว่าขอข้อมูลเกินจำเป็นหรือไม่ การเก็บรักษาข้อมูลทำได้ดีเพียงใด มีการนำไปใช้ประโยชน์อื่นหรือขายข้อมูลด้วยหรือไม่ หากมีเจตนาไม่สุจริตจะได้รับโทษตั้งแต่การตักเตือน ปรับ และจำคุก ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและเจตนาของผู้จำหน่าย
ทั้งนี้ทั้ง OPPO และ realme แจ้งว่าจะ ไม่มีการโหลดแอปพลิเคชันกับเครื่องรุ่นใหม่ ที่จะมีการเปิดตัวนับจากนี้ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แอปพลิเคชัน มีการโหลดลงเครื่องโทรศัพท์ครั้งแรกในปี 2566 สำหรับผู้ที่ใช้มือถือของทั้ง 2 ค่าย มี การอัปเดตเวอร์ชันจะมีการโหลด แอปพลิเคชัน โดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้ กสทช. ขอให้ทั้ง 2 ค่าย รายงานความคืบหน้าที่เกี่ยวข้องกับ ข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ รวมถึงข้อมูล ผู้รับผิด เนื่องจากหากมีการละเมิด พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ สคส. แจ้งว่า)จะเป็นกรณีที่ฝ่าฝืนมาตรา 83 ที่จะระวาง โทษปรับไม่เกิน 3,000,000 บาท