ไหว้พระขอพรวันมาฆบูชา เสริมสิริมงคลชีวิต

วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง โดยในปีนี้ วันมาฆบูชา 2563 ตรงกับวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงนำสถานที่ท่องเที่ยวไหว้พระขอพรในวันมาฆบูชามาแนะนำกัน

1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว พระอารามใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาที่สำคัญ ตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2327 และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาตลอดทุกรัชกาล ภายในพระอุโบสถและระเบียงรอบวัดมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยงามมาก ที่สำคัญเป็นที่ประดิษฐาน พระมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พระคู่บ้านคู่เมืองของไทย นอกจากนี้ยังมีประดิษฐานอื่น ๆ ที่สวยงามและมีประวัติมายาวนาน โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น.

2. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และภูเขาทอง กรุงเทพมหานคร

พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง ริมคลองมหานาค และคลองรอบกรุง เดิมเป็นวัดเก่าแก่โบราณในสมัยอยุธยา ชื่อว่า “วัดสะแก” ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอารามในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงครองราชย์นั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา

ส่วนเจดีย์ภูเขาทองนั้นเริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้าง พระบรมบรรพต หรือภูเขาทอง โดยทรงเลียนแบบมาจากภูเขาทองในสมัยกรุงศรีอยุธยาและทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จภายในรัชกาลของพระองค์ จนมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ในที่สุดการก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทานนามว่า “สุวรรณบรรพต” มีความสูง 77 เมตร บนยอดสุวรรณบรรพตเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดค้นพบที่เมืองกบิลพัสดุ์ เรียกได้ว่าเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยนักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในเวลา 08.30-17.00 น. ของทุกวัน ไม่เสียค่าธรรมเนียมในการเข้าชม

3. นมัสการรอยพระบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี

ในวันมาฆบูชานี้ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนและผู้มีจิตศรัทธาร่วมนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ ประจำปี 2563 ในระหว่างวันที่ 25 มกราคม ถึง 24 มีนาคม 2563 ณ เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต โดยภายในงานมีการจัดบวงสรวงเทวดาอารักษ์ พิธีปิดทองรอยพระพุทธบาท และการจัดเดินป่าขึ้นไปสู่ยอดเขาคิชฌกูฏ งานนี้เป็นงานประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานานหลายปี โดยมีความเชื่อว่าผู้ที่เดินขึ้นไปยอดเขาซึ่งมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่นั้นจะได้บุญสูง ปัจจุบันมีรถบริการนำประชาชนขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ในช่วงวันมาฆบูชาของทุกปีจะมีประชาชนขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาททั้งกลางวันและกลางคืนเป็นจำนวนมาก โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้ที่ เฟซบุ๊ก เขาพระบาทพลวง จันทบุรี

4. วัดม่วง จังหวัดอ่างทอง

ตั้งอยู่ในอำเภอวิเศษชัยชาญ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ต่อมาถูกข้าศึกเผาจนเหลือแต่ซากปรักหักพัง จนเมื่อปี พ.ศ. 2525 หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ ได้ธุดงค์มาปักกลดบริเวณนี้ และบูรณะวัดม่วงขึ้นมาใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ท่านได้วางศิลาฤกษ์เพื่อก่อสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่มีหน้าตักกว้าง 63 เมตร สูง 95 เมตร โดยให้พระนามอย่างเป็นทางการว่า “พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ” แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่”

นอกจากองค์พระใหญ่แล้ว ในบริเวณวัดยังมีสิ่งอื่น ๆ น่าสนใจ เช่น วิหารที่ประดิษฐานองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมปางพันกร ที่มีความยิ่งใหญ่และสง่างามเป็นอย่างยิ่ง, “วิหารแก้ว” มีพระพุทธรูปเนื้อเงินแท้ประดิษฐานเป็นพระประธาน ด้านข้างรายรอบด้วยรูปหล่อทองเหลืองของพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง และ “พระอุโบสถ” ที่ตั้งอยู่กลางดอกบัวขนาดยักษ์ ซึ่งรอบ ๆ อุโบสถประดิษฐานรูปปั้นเหมือนของพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจากทั่วประเทศ

5. วัดพราหมณี จังหวัดนครนายก

วัดเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ที่หมู่ 9 ตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายก ที่นี่เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อปากแดง” พระพุทธรูปเก่าแก่ทรงเครื่องดอกพิกุล พระโอษฐ์แดง เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไปมาก เพราะขึ้นชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ที่ไม่ว่าใครเดินทางมาขอพรก็ประสบความสำเร็จสมหวังในสิ่งที่ต้องการ

วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีเรื่องราวเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญ โดยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้เลือกบริเวณที่ตั้งของวัดเป็นจุดพักทัพของกองพันทหารที่ 37 ซึ่งมีจุดหมายที่จะไปรวมพลกันที่บริเวณเขาชะโงก ทั้งนี้ได้ค้นพบโครงกระดูกของทหารญี่ปุ่นใกล้กับวัดพราหมณี ดังนั้นสมาคมทหารสหายสงครามกองพลญี่ปุ่นที่ 37 จึงได้สร้างอนุสรณ์สถานไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงทหารญี่ปุ่น

ที่มา https://travel.kapook.com/view113340.html?fbclid=IwAR2cM0HJtgaOb-02JYXewl1_lKJOG6jesAQ3VfpKhQU4QlWeFeozkmuiYyQ