ยาเลื่อนประจำเดือน กินอย่างไร ปลอดภัยและได้ผล สาว ๆ ควรรู้

ยาเลื่อนประจำเดือน ตัวช่วยยามฉุกเฉินสำหรับสาว ๆ ที่ไม่อยากให้ประจำเดือนมาตรงกับวันสำคัญ แต่ยาช่วยเลื่อนประจำเดือนที่ขายในร้านขายยาก็มีหลายชนิด แล้วจะมีหลักการเลือกใช้อย่างไรไม่ให้กระทบต่อสุขภาพ วันนี้สาว ๆ คลายสงสัยกันได้แล้ว เรามีคำตอบ

หนึ่งในปัญหากวนใจของสาว ๆ ย่อมต้องมีเรื่องประจำเดือนมาตรงวันสำคัญพอดี ที่มักจะกระทบความพร้อมของร่างกายและจิตใจ ทำให้รู้สึกร่างกายไม่ปกติเท่าที่ควร สาว ๆ ส่วนใหญ่จึงต้องพึ่งพาตัวช่วยอย่าง ยาเลื่อนประจำเดือน ที่เราเข้าใจกันไปว่า เป็นยาที่จะใช้บ่อยแค่ไหนก็ได้ เพราะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่สาว ๆ ชัวร์แค่ไหนว่าเข้าใจถูกต้อง กระปุกดอทคอมมีคำตอบของทุกปัญหาในเรื่องนี้มารอให้อ่านคลายสงสั­­­ยกันแล้ว

ยาเลื่อนประจําเดือนเป็นยาแบบไหน

สาว ๆ เคยเอะใจกันบ้างไหมว่า ยาเลื่อนประจำเดือนที่เราใช้ในเวลาที่จำเป็นนั้น เป็นตัวยาแบบไหนกัน จึงสามารถหยุดวันนั้นของเดือนได้ตามที่ต้องการ ในเรื่องนี้ รศ. นพ.อภิชาติ จิตเจริญ อาจารย์นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี มีคำอธิบายอย่างง่าย ๆ ให้สาว ๆ เข้าใจตรงกันว่า ยาเลื่อนประจำเดือน ก็คือ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) นั่นเอง ที่จะช่วยให้ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนไม่ลดลง จึงสามารถเลื่อนระยะเวลาของการหลุดลอกของผนังมดลูกออกไป ผลคือ สาว ๆ ก็จะมีรอบเดือนช้าลงอีกประมาณ 1 สัปดาห์

ยาเลื่อนประจำเดือน มีกี่ชนิด

เวลาที่เราไปร้านขายยา ส่วนมากมักจะซื้อยาเลื่อนประจำเดือนตามที่เภสัชกรขายยาแนะนำ ทางที่ดีก็ควรรู้เอาไว้บ้างว่า ยาเลื่อนประจำเดือนที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้กันนั้นมีกี่ชนิดกัน จากข้อมูลของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกไว้ว่า ยาเลื่อนประจำเดือนที่นิยมใช้กันก็คือ Primolut-N หรือ พรีโมลุสเอ็น ที่มีตัวยาสำคัญ คือ นอร์เอทีสเตอโรน (Norethisterone) ขนาด 5 มิลลิกรัม โดยตัวยานี้มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน คือมีผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน จนกว่าจะหยุดใช้ยา และยังช่วยบรรเทากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน หรือ PMS ได้อีกด้วย เช่น ปวดศีรษะ หงุดหงิด ไม่สบายตัว เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมียาเลื่อนประจำเดือนอีกหนึ่งชนิด นั่นคือ Provera หรือ โปรเวรา ที่มีตัวยาสำคัญคือ เมดรอกซี่โปรเจสเตอโรน (Medroxyprogesterone) แต่ตัวนี้มีฮอร์โมนน้อยกว่าจึงต้องใช้ในปริมาณมากกว่า Primolut-N นั่นคือ ประมาณ 20-30 มิลลิกรัม

และอีกหนึ่งวิธีที่มีผลให้รอบเดือนมาช้าลงด้วยนั่นคือ การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด แต่วิธีนี้ได้รับความนิยมน้อยกว่า เพราะกินแล้วมีผลข้างเคียงสูง อีกทั้งต้องทานติดต่อกันหลายวัน เหมาะกับผู้หญิงที่กินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นปกติอยู่แล้วมากกว่า

วิธีกินยาเลื่อนประจําเดือน ปลอดภัยและได้ผลตามต้องการ

เมื่อไรก็ตามที่สาว ๆ ต้องการเลื่อนประจำเดือน สิ่งสำคัญอย่างแรกที่ต้องรู้เลยคือ ช่วงเวลาของรอบเดือนตัวเอง เพราะถ้าหากเราไม่ชัวร์ ผลของการกินยาก็จะคลาดเคลื่อนตามไปด้วย ในขณะเดียวกันถ้าเรารู้กำหนดของรอบเดือน เราก็จะประเมินได้ง่ายขึ้นว่าควรเริ่มกินเมื่อไร

สำหรับวิธีการใช้ยาเลื่อนประจำเดือน ทางด้าน รศ. นพ.อภิชาติ ก็มีข้อแนะนำในการใช้ยามาฝากสาว ๆ กันด้วย ตามนี้เลย

* ควรกินยาเลื่อนประจำเดือนล่วงหน้าอย่างน้อย 4-5 วัน หรือ 1 สัปดาห์

* ควรหลีกเลี่ยงการกินยาประเภทลดกรดในกระเพาะอาหาร เพราะจะมีผลทำให้การดูดซึมยาเลื่อนประจำเดือนลดลง ที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเลื่อนรอบเดือน

* หากใช้ยาเลื่อนประจำเดือน Primolut-N ขนาด 5 มิลลิกรัม ควรกินก่อนกำหนดของรอบเดือนประมาณ 3 วัน เช่น หากรอบเดือนปกติมาทุกวันที่ 17 ควรเริ่มกินยาประมาณวันที่ 14 โดยกินหลังอาหารครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หรือตามน้ำหนักตัว และต้องกินต่อเนื่องกันทุกวัน จนกว่าเราต้องการให้ประจำเดือนมาได้แล้ว

– หากน้ำหนักตัวน้อยกว่า 60 กิโลกรัม รับประทาน 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง

– หากน้ำหนักตัวมากกว่า 60 กิโลกรัม รับประทาน 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

* หากใช้ยาเลื่อนประจำเดือน Provera ขนาด 5-10 มิลลิกรัม ควรกินก่อนกำหนดของรอบเดือนประมาณ 5 วัน เช่น หากรอบเดือนปกติมาทุกวันที่ 17 ควรเริ่มกินยาประมาณวันที่ 12 โดยกินหลังอาหารครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 5-10 วัน เมื่อหยุดกินยาแล้วประจำเดือนจะมาภายใน 3-7 วัน

* หากใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อเลื่อนประจำเดือนนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

– กรณีที่ไม่ได้กินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นปกติ ควรเริ่มกินยาเม็ดคุมกำเนิดก่อนกำหนดรอบเดือน 10 วัน เช่น หากรอบเดือนปกติมาทุกวันที่ 17 ควรเริ่มกินยาประมาณวันที่ 7 โดยกินหลังอาหารครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้งติดต่อกัน เมื่อต้องการให้ประจำเดือนมาวันไหนก็หยุดกินยาล่วงหน้า 3 วัน

– กรณีที่กินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ไม่ต้องการให้มีประจำเดือนในช่วง 7 วันที่ไม่ได้กินยา หรือช่วงที่กินยาเม็ดแป้ง ก็ให้กินยาเม็ดที่เป็นฮอร์โมนต่อเนื่องไปได้เลย ไม่ต้องเว้นยา หรือไม่ต้องกินยาเม็ดแป้ง ซึ่งในระหว่างที่กินยาเม็ดที่เป็นฮอร์โมน ก็จะไม่มีประจำเดือน และหลังจากเลื่อนประจำเดือนแล้ว ให้เริ่มกินยาเม็ดคุมกำเนิดเม็ดแรกในวันที่มีประจำเดือนเลย

ยาเลื่อนประจําเดือน ผลข้างเคียงมีไหม ?

การกินยาเลื่อนประจำเดือนเป็นวิธีที่ปลอดภัยก็จริง แต่ก็ไม่แนะนำให้ใช้บ่อยครั้ง หรือใช้ติดต่อกันนานเกิน 10-14 วัน อาจได้รับผลข้างเคียงบางประการ ได้แก่

– คลื่นไส้ อาเจียน
– ปวดศีรษะ
– มีอาการซึมเศร้า
– ท้องอืด แน่นท้อง
– เจ็บคัดเต้านม
– ประจำเดือนออกกะปริบกะปรอย
– รอบเดือนแปรปรวน มาไม่สม่ำเสมอ
– โอกาสตั้งครรภ์ยากขึ้น เพราะการกินยาเลื่อนประจำเดือนเพื่อการคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ฤทธิ์ของตัวยานอร์เอทีสเตอโรน จะทำให้เกิดเมือกเหนียวข้นบริเวณช่องคลอด เมื่อต้องการตั้งครรภ์จริงจึงมีโอกาสต่ำมาก เพราะอสุจิเคลื่อนที่ไปผสมกับไข่ยากขึ้น อีกทั้งผนังมดลูกก็ไม่เหมาะสมแก่การฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว

กินยาเลื่อนประจำเดือนตอนประจำเดือนมาแล้ว จะมีผลไหม

การกินยาเลื่อนประจำเดือนควรกินก่อนกำหนดรอบเดือนปกติ เพราะถ้ากินตอนประจำเดือนมาแล้วนั้น ตัวยาจะไม่มีผลใด ๆ เลย ทางที่ดี ควรนับวันล่วงหน้าแล้วกินยาดีกว่า

ยาเลื่อนประจำเดือน คุมกำเนิดได้ไหม

ยาเลื่อนประจำเดือนโดยทั่วไปอาจใช้เป็นยาคุมกำเนิดแบบธรรมดาได้­­­ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในการคุมกำเนิดเป็นหลัก เพราะจะทำให้ประจำเดือนออกกะปริบกะปรอย รอบเดือนแปรปรวน ในกรณีที่สาว ๆ ต้องการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่กินยาเลื่อนประจำเดือนนั้น จะทำให้โอกาสตั้งครรภ์มีน้อย แต่ทางที่ดีก็ไม่ควรชะล่าใจ ควรใช้ถุงยางอนามัยด้วย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และความสุ่มเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้น

อีกกรณีหนึ่งสำหรับสาว ๆ ที่ทานยาคุมกำเนิดอยู่แล้ว และต้องการใช้ยาคุมเพื่อเลื่อนประจำเดือนนั้น ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณีดังนี้

– กรณีที่ 1 กินยาคุมกำเนิดแบบแผงละ 21 เม็ดจนหมดแผง ให้เริ่มกินแผงต่อไปได้เลยไม่ต้องหยุดยาจะทำให้สามารถเลื่อนประ­­จำเดือนได้

– กรณีที่ 2 กินยาคุมกำเนิดแบบแผงละ 28 เม็ด เมื่อทานยาคุมไปแล้ว 21 เม็ด ให้เริ่มทานยาคุมกำเนิดแผงใหม่เลย ไม่ต้องกิน 7 เม็ดที่เหลือในแผงเดิม เพราะยา 7 เม็ดที่เหลือไม่มีส่วนประกอบของฮอร์โมน เมื่อหยุดใช้ยาแล้ว ประจำเดือนจะมาตามปกติภายใน 2-3 วัน

ยาเลื่อนประจำเดือน ข้อยกเว้นที่ต้องรู้

ยาเลื่อนประจำเดือนชนิดนอร์เอทีสเตอโรนนั้น มีข้อยกเว้นกับผู้หญิงที่เข้าข่าย 7 กลุ่มอาการ ต่อไปนี้

– ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคนที่มีอายุครรภ์ 1 เดือนครึ่งเป็นต้นไป การใช้ยาเลื่อนประจำเดือนขณะตั้งครรภ์ จะส่งผลให้โครโมโซมของทารกในครรภ์ผิดปกติ เนื่องจากฤทธิ์ยาจะไปขัดขวางพัฒนาการของอวัยวะเพศภายนอก และยังนำไปสู่ความพิการ หรือแท้งได้

– ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เนื่องจากยาสามารถปนออกมากับน้ำนมของแม่ จึงอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อลูกได้ และจะส่งผลโดยตรงต่อผู้ที่เป็นแม่ โดยมีอาการเจ็บคัดเต้านม เต้านมโตผิดปกติ

– มีประวัติ หรือมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน เนื่องจากการใช้ยาในกลุ่มคนเหล่านี้ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดอุดตัน ตัวอย่างผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ สูบบุหรี่ โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น

– มีประวัติ หรือกำลังเป็นโรคตับขั้นรุนแรง เช่น ตับอักเสบ เนื่องจากยาถูกกำจัดที่ตับ หากตับทำงานไม่ดีอาจทำให้ยาสะสมในร่างกายได้

– มีประวัติ หรือกำลังเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งที่อวัยวะเพศ ชนิดที่ไวต่อฮอร์โมน เนื่องจากตัวยาอาจส่งเสริมการโตของเนื้อร้ายเหล่านี้

– แพ้ตัวยานอร์เอสทีสเตอโรน เช่น กินแล้วมีผื่นขึ้น เป็นต้น

– มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า หรือกำลังเป็นโรคซึมเศร้า

หยุดกินยาเลื่อนประจำเดือน แต่ประจำเดือนยังไม่มา ควรทำอย่างไร

หากสาว ๆ หยุดใช้ยาเลื่อนประจำเดือนเกิน 1 สัปดาห์แล้ว แต่ประจำเดือนก็ยังไม่มาสักที สิ่งแรกที่ควรทำคือ เช็กเรื่องระยะเวลาการมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดก่อนใช้ยาเลื่อน­­­ประจำเดือน ว่ามีการคุมกำเนิดใด ๆ หรือไม่ หากแน่ใจแล้วว่าไม่มีเพศสัมพันธ์ในช่วงก่อนหน้านั้น หรือมี แต่ไม่ได้ใช้ยาคุมกำเนิด ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจการตั้งครรภ์ และสาเหตุที่แน่ชัด รวมถึงขอคำปรึกษาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม

ที่มา https://health.kapook.com/view113298.html