15 คำถามฮิตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เคลียร์ให้หายข้องใจจะได้ไม่สับสน

ตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสอู่ฮั่น หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ก็มีประเด็นสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับโคโรนาไวรัสเกิดขึ้นมากมาย และนำไปสู่การหาคำตอบแบบที่เป็นข่าวปลอมบ้าง ข้อมูลที่ถูกบิดเบือนมาบ้าง ดังนั้นเพื่อป้องกันความสับสนเกี่ยวกับไวรัสอู่ฮั่น เราได้รวบรวมคำถามยอดฮิต พร้อมคำตอบมาให้ตรงนี้แล้ว

1. ไวรัสโคโรนา คืออะไร

ไวรัสโคโรนา คือ ไวรัสชนิดหนึ่งในตระกูลโคโรนา ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบได้ทั้งในคนและสัตว์ โดยไวรัสชนิดนี้มีมานานกว่า 50-60 ปีแล้ว มีอยู่หลายสายพันธุ์ แต่ไวรัสที่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อยที่ไม่เคยพบมาก่อน จึงเรียกว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ Novel coronavirus 2019

ก่อนที่ภายหลัง WHO จะประกาศชื่อของโรคนี้อย่างเป็นทางการว่า COVID-19 ซึ่งมีที่มาจาก CO : Corona, VI : Virus และ 19 คือปี 2019 ซึ่งเริ่มต้นระบาด

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ต้นตอโรคปอดอักเสบอู่ฮั่น ที่แพร่จากคนสู่คนได้

2. ไวรัสอู่ฮั่น ต่างจาก โรคซาร์ส และโรคเมอร์ส อย่างไร

จริง ๆ แล้ว ทั้ง 3 โรคเกิดจากไวรัสโคโรนาเหมือนกัน อาการจึงจะเกิดในทางเดินระบบหายใจคล้าย ๆ กัน แต่ถึงแม้จะเป็นไวรัสตัวเดียวกัน ทว่าก็เป็นไวรัสคนละสายพันธุ์ ดังนั้นความรุนแรงของโรคก็จะต่างกัน

โดยความรุนแรงของโรคซาร์สทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 10% โรคเมอร์ส อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 30% ส่วนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 เป็นไวรัสชนิดใหม่ที่ยังควบคุมไม่ได้ในตอนนี้ จึงยังไม่ทราบข้อมูลความรุนแรงของโรคที่แน่ชัด แต่จากสถิติผู้เสียชีวิตในช่วงเดือนมกราคม 2020 ก็พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 2% โดยประมาณ

3. ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มาจากไหน

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 น่าจะเกิดจากการติดเชื้อจากสัตว์ในตลาดสดอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งจากพฤติกรรมของไวรัส คาดว่าน่าจะเกิดมาจากงู โดยเชื้อส่งผ่านจากค้างคาวมาสู่งู และงูไปยังมนุษย์ ทั้งนี้โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เกิดตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2019 เป็นต้นมา แต่วินิจฉัยโรคได้หลังปีใหม่ ก่อนจะถอดรหัสพันธุกรรมสำเร็จในวันที่ 11 มกราคม 2020

4. ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ติดต่อทางไหน แพร่จากคนสู่คนได้อย่างไร

การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ก็เหมือนการติดเชื้อหวัดทั่วไป กล่าวคือ สามารถแพร่กระจายเชื้อได้จากละอองฝอยจากการไอหรือจาม สารคัดหลั่งอย่างน้ำลาย น้ำมูก ซึ่งหากร่างกายสูดดมเอาละอองฝอยจากการไอ จาม ของผู้ติดเชื้อก็จะสามารถรับเชื้อไวรัสโคโรนาเข้าสู่ร่างกายได้ เช่นเดียวกันกับการสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อไม่ว่าจะทางมือ แล้วเอามือมาจับของกินเข้าปาก ถูหน้า ขยี้ตา ก็อาจจะติดเชื้อไวรัสอู่ฮั่นได้เหมือนกัน

ทั้งนี้ อัตราการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ พบว่า ผู้ติดเชื้อ 1 ราย สามารถแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้อีก 2-3 ราย โดยเฉลี่ย

5. จับมือ-เดินสวนกัน เสี่ยงติดเชื้อหรือไม่

ไม่ต้องกลัวว่าการเดินสวนกันหรือการสัมผัสตัวผู้ติดเชื้อจะทำให้เราป่วยเป็นโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตราบใดที่เราไม่ได้รับละอองฝอยจากการไอ จาม หรือสัมผัสสารคัดหลั่งผู้ป่วยแล้วเอามือที่สัมผัสเชื้อนั้นมาหยิบของกินเข้าปาก หรือขยี้ตา เพราะเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะติดต่อได้ก็ต่อเมื่อเรารับเชื้อเข้าสู่เยื่อบุในร่างกายเรานั่นเอง แค่เดินสวนกันหรือจับมือกันแต่ไม่ได้โดนสารคัดหลั่งใด ๆ จากผู้ป่วยก็ไม่ติดค่ะ

สารคัดหลั่งคืออะไร ในร่างกายเรามีสารคัดหลั่งเป็นอะไรบ้าง

6. ไวรัสอู่ฮั่น รับเชื้อแล้วป่วยทันทีเลยไหม

โดยปกติโคโรนาไวรัสจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-14 วัน ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการป่วยที่สังเกตเห็นได้ และไม่รู้ตัวว่าป่วยอยู่ ซึ่งก็อาจไปเที่ยว ไปไหนมาไหนได้ตามปกติ ดังนั้นในช่วง 2-14 วันหลังจากได้รับเชื้อ ก็จะค่อนข้างยากต่อการคัดกรองโรค

7. ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อาการเป็นอย่างไร

อาการโคโรนาไวรัสจะคล้าย ๆ กับไข้หวัดทั่วไป คือ มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ แต่หากเป็นมากก็อาจมีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ท้องเสีย อาเจียน และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอาการปอดอักเสบ (Pneumonia) ซึ่งความรุนแรงของอาการก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย

8. ไวรัสอู่ฮั่น อันตรายแค่ไหน ป่วยแล้วเสียชีวิตไหม

อย่างที่บอกว่าความรุนแรงของโคโรนาไวรัสขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน หากร่างกายมีภูมิต้านทานแข็งแรง ก็อาจจะเป็นแค่ไข้หวัด และสามารถหายได้เอง แต่หากมีร่างกายอ่อนแอ เช่น เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะภูมิต้านทานต่ำ ก็เสี่ยงเสียชีวิตจากไวรัสอู่ฮั่นได้เหมือนกัน แต่ทั้งนี้อัตราการตาย ณ ปัจจุบันก็ยังถือว่าค่อนข้างต่ำ ประมาณ 2-3% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด (มกราคม 2020)

9. ไวรัสอู่ฮั่น มียารักษาไหม ฉีดวัคซีนป้องกันได้หรือเปล่า

ณ ปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาไวรัสโคโรนาโดยตรง มีเพียงการรักษาตามอาการของผู้ติดเชื้อเท่านั้น เช่น ให้ยาแก้ไข้ ให้ออกซิเจนเมื่อมีภาวะหายใจลำบาก ส่วนวัคซีนป้องกันไวรัสอู่ฮั่น ณ ตอนนี้ยังไม่มี อย่างไรก็ตาม ทางจีนก็กำลังพยายามพัฒนาวัคซีนป้องกันโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่อยู่

จีนลุยพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หลังระบาดไปทั่ว

10. ไทยคิดค้นยาต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้แล้วจริงไหม

ข่าวยาต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่แพทย์ไทยค้นพบเป็นเรื่องจริง โดยความสำเร็จนี้เกิดจาก นพ.เกรียงศักดิ์ อติพรวณิช นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลราชวิถี พร้อมด้วย รศ. นพ.สืบสาย คงแสงดาว นายแพทย์เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลราชวิถี ได้ใช้ยา 3 ชนิด ประกอบด้วย

– Oseltamivir เป็นยาต้านไวรัสหวัดที่เคยใช้รักษาโรคเมอร์ส หรือ MERS-CoV (Middle East Respiratory Syndrome) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกัน ปริมาณยา 300 มิลลิกรัมต่อวัน

– Lopinavir ยาต้านไวรัส HIV 800 มิลลิกรัมต่อวัน

– Ritonavia ยาต้านไวรัสเอดส์ 200 มิลลิกรัมต่อวัน

เพื่อรักษาผู้ป่วยชาวจีนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุใหม่ และมีอาการปอดอักเสบรุนแรง พบว่าภายในระเวลา 12 ชั่วโมง ผู้ป่วยมีไข้ลดลง จากที่อ่อนเพลียมากก็สามารถลุกขึ้นมานั่งได้ ขณะที่ผลตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา ผ่านทางห้องปฏิบัติการระบุว่าเป็นลบ ภายใน 48 ชั่วโมง แม้คนไข้จะยังไม่หายสนิท แต่อาการดีขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องรอการวิจัยที่แน่ชัด จึงจะสามารถยืนยันว่าสามารถใช้เป็นมาตรฐานในการรักษาได้

หมอราชวิถี เผยยา 3 ตัว จัดการไวรัสโคโรนา ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง

11. ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันไวรัสอู่ฮั่นได้ไหม

การใส่หน้ากากอนามัยเป็นวิธีป้องกันไวรัสโคโรนาได้ในด่านแรก ๆ โดยควรเลือกใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่มีลักษณะด้านหนึ่งเป็นสีฟ้า หรือสีเขียว ส่วนอีกด้านเป็นสีขาว หรือหน้ากากอนามัยแบบธรรมดานั่นเอง เพราะหน้ากากอนามัยแบบนี้สามารถกันน้ำได้ จึงช่วยป้องกันการแพร่กระจายและการรับเชื้อที่มากับละอองฝอยของการไอ จาม น้ำลาย น้ำมูกได้

แต่ถ้าถามว่าใส่หน้ากาก N95 ที่ช่วยป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ไหม ก็ตอบว่าได้เหมือนกัน ทว่าก็อาจจะหายใจอึดอัดกว่าการใส่หน้ากากอนามัยแบบธรรมดาอยู่บ้าง เอาเป็นว่าก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคนเลยก็แล้วกัน แต่ที่สำคัญคือควรต้องใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันเชื้อโรคไว้ก่อน

12. หน้ากากอนามัยใช้ซ้ำได้หรือไม่ ควรใส่กี่วันทิ้ง

ในช่วงที่หน้ากากอนามัยหาซื้อได้ยาก การใส่หน้ากากอนามัยซ้ำจึงเป็นวิธีที่หลายคนใช้กัน ซึ่งก็สามารถใส่หน้าหน้าอนามัยซ้ำได้ หากเราไม่ได้ป่วย และสภาพหน้ากากอนามัยไม่ได้สกปรก หรือชำรุดจนไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ หรือถ้าไม่ได้ป่วยจะใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้าที่สามารถซักได้ก็ได้นะคะ แต่หากมีอาการป่วย ไอ จาม อยู่ แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งจะดีกว่า

วิธีใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง ป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา ไวรัสอู่ฮั่น

13. สั่งซื้อของจากจีนจะติดเชื้อไหม

ตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีต้นตอมาจากประเทศจีน คนที่ชอบซื้อของออนไลน์จากจีนบ่อย ๆ ก็ชักจะหวั่นใจ เกรงว่าจะได้รับเชื้อผ่านพัสดุที่ส่งมาจากจีนหรือไม่

ประเด็นนี้ทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกมาชี้แจงว่า การรับพัสดุจากจีนไม่สามารถแพร่เชื้อไวรัสอู่ฮั่นได้ เนื่องจากตรวจพบว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีชีวิตอยู่บนวัตถุได้ไม่นานก็ตาย ดังนั้นสั่งซื้อของจากจีนก็ยังถือว่าปลอดภัยจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อยู่ แต่หากไม่แน่ใจอาจใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดรอบกล่องพัสดุก่อนก็ได้

องค์การอนามัยโลก ไขข้อสงสัย สั่งซื้อของจากจีนเสี่ยงติดไวรัสอู่ฮั่นไหม

14. ผู้ป่วยไวรัสอู่ฮั่นที่รักษาหายแล้วจะกลับมาเป็นซ้ำได้ไหม

ตอนนี้ยังไม่มีรายงานทางการแพทย์ว่า ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้วหาย จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหรือไม่ เพราะโรคนี้ยังถือว่าใหม่มาก แต่ทั้งนี้เชื้อไวรัสโดยส่วนใหญ่มักมีการกลายพันธุ์ เหมือนกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีสายพันธุ์ A สายพันธุ์ B ดังนั้นโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกก็น่าจะมีอยู่บ้าง

แต่อย่างไรก็ดี จากผลเลือดผู้ป่วยที่หายจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ก็พบว่า จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์นี้อยู่ในตัว ดังนั้นการป้องกันโรคเกิดซ้ำก็แค่ป้องกันการติดเชื้อไวรัสอู่ฮั่นด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี

15. วิธีป้องกันไวรัสอู่ฮั่น ทำยังไงได้บ้าง

นอกจากการใส่หน้ากากอนามัยแล้ว วิธีป้องกันไวรัสโคโรนาที่ดีก็ควรกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ กินอาหารปรุงสุก รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนแออัด หรือหากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกที่มีคนพลุกพล่าน ก็ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และพกเจลล้างมือติดตัวเอาไว้ทำความสะอาดมือบ่อย ๆ ด้วย

หากต้องเดินทางไปประเทศจีน ไม่ควรเข้าไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิต การสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย รวมทั้งไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอ จาม

ที่มา https://health.kapook.com/view219917.html