มทร.ธัญบุรี เปลี่ยนหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ไปผลิตเป็นวัสดุเสริมแรงงานก่อสร้าง สร้างมูลค่าได้มหาศาล

เมื่อหน้ากากอนามัย กลายเป็นหนึ่งในของที่ต้องมีในยุคสมัยนี้ อย่างที่รู้กันดีว่าบางประเทศมีใช้อย่างไม่จำกัด บางประเทศก็ของไม่พอใช้ แต่หลังจากการใช้เสร็จแล้ว หลายคนก็ทิ้งเลย แต่ที่นี่เอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทน


ปัญหาขยะ ที่มาจากการทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงอย่างมาก เพราะเชื้อโรคอาจจะแพร่กระจายได้หากทิ้งไม่ถูกวิธี หรือไมีมีระบบการกำจัดที่ถูกต้อง แต่ล่าสุด มีเรื่องน่ายินดีเมื่อหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้นำขยะหน้ากากอนามัยเหลือทิ้ง มาใช้ประโยชน์เป็นวัสดุเสริมแรงในการผลิตวัสดุก่อสร้าง วัสดุตกแต่ง และกระถางต้นไม้ ลดขยะแถมช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย


ดร.ประชุม คำพุฒ หัวหน้าหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เล่าว่า ปัจจุบันหน้ากากอนามัยมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิต เปรียบเหมือนเป็นอุปกรณ์ที่ต้องมีติดตัวตลอดเวลา โดยหน้ากากอนามัย แบงออกเป็น

(1) หน้ากากอนามัยผ้าฝ้าย ใช้สำหรับป้องกันฝุ่นละออง และป้องกันการกระจายของน้ำมูกหรือน้ำลาย จากการไอหรือจาม แต่ไม่สามารถกรองเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ได้

(2) หน้ากากอนามัยใยสังเคราะห์ 3 ชั้น ทำจากพอลิโพรไพลีน ใช้ในการกรองฝุ่น ป้องกันของเหลวซึมผ่าน และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากการไอหรือจาม และเชื้อโรคจำพวกเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราได้ การกรองได้ไม่น้อยกว่า 95% ของอนุภาคขนาด 3 ไมครอน

(3) หน้ากากอนามัยชนิด N95 ได้รับการยอมรับว่าสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ดีที่สุด มีคุณสมบัติป้องกันได้ทั้งฝุ่นละออง และเชื้อโรคที่มีขนาดอนุภาคเล็ก ได้ถึง 0.3 ไมครอน ซึ่งหน้ากากทุกประเภทเมื่อใช้แล้วจะต้องทิ้งกลายเป็นขยะอันตรายที่ต้องทำการกำจัดด้วยวิธีที่ปลอดภัย โดยก่อนทิ้งควรมีการพับเก็บให้เรียบร้อยและทิ้งอย่างถูกวิธี


จากข้อมูลของหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข ให้ความรู้แนวทางการกำจัดว่า “หน้ากากอนามัยแบบธรรมดาไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ แต่พอทิ้งไปแล้วสามารถที่จะย่อยสลายเองได้ เนื่องจากใช้วัสดุที่ทำจากใยสังเคราะห์ ถึงแม้จะมีการทิ้งมากขนาดไหน ก็จะไม่เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน ส่วนหน้ากากอนามัยที่เป็นผ้าสามารถนำไปซักแล้วนำกลับมาใช้ได้เลย

แต่ถ้าเป็นหน้ากากอนามัยหรือผ้าที่ใช้แล้วจากโรงพยาบาล ให้ใช้วิธีกำจัดแบบเดียวกับการกำจัดขยะติดเชื้อของโรงพยาบาล โดยใช้ถุงพลาสติกสีแดง ติดเครื่องหมายว่าเป็นขยะติดเชื้อ เก็บรวบรวมไว้ในที่เฉพาะ กำจัดในเตาเผา และถ้าเป็นแบบที่ใช้แล้วจากสถานศึกษาหรือชุมชน ต้องมีการแยกขยะใส่ถุงพลาสติก มีป้ายบอกชัดเจนว่า เป็นหน้ากากอนามัยหรือผ้า มัดถุงให้แน่น และแยกเก็บรวบรวมไว้อย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนกับขยะอื่น”


ณ เวลานี้ หน้ากากอนามัยเป็นวัสดุสิ้นเปลือง และส่วนมากก็ไม่ได้มีการติดเชื้อ เพราะคนใส่เพื่อป้องกันตัวเองเป็นหลัก จึงเป็นที่น่าเสียดายหากนำไปกำจัดด้วยการเผาทิ้งแต่เพียงอย่างเดียว หน่วยวิจัยฯ มีความเชี่ยวชาญกับการอัพไซเคิลวัสดุเหลือทิ้งต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ขยายผลไปสู่วิสาหกิจชุมชน หรืออสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่

ซึ่งช่วงนี้ถึงเวลาของการอัพไซคลิ่งขยะหน้ากากอนามัยที่เรียกได้ว่าเป็นขยะอันตรายกว่าขยะพลาสติกทั่วไป จึงต้องทำการกำจัดเชื้อโรคหรือทำความสะอาดหน้ากากอนามัยใช้แล้วในเบื้องต้นด้วยการพ่นด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค แล้วอบไอน้ำแรงดันสูง ก่อนนำไปใช้งานเป็นวัสดุเสริมแรงในการผลิตวัสดุก่อสร้างและวัสดุตกแต่งอาคาร จัดสวน เช่น บล็อกก่อผนังมวลเบา อิฐบล็อกประสาน บล็อกปูพื้น ฝ้าเพดาน ฯลฯ


โดยการนำข้อดีของขยะหน้ากากอนามัยที่มีความเหนียวเป็นแผ่นใยผ้าหรือพลาสติก มาเสริมความแข็งแรงให้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้ผลิตขึ้นจากกรรมวิธีการผลิตคอนกรีต โดยช่วยในด้านการรับแรงดึง แรงดัด และช่วยลดการแตกร้าวให้กับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนมีน้ำหนักเบา และเป็นฉนวนความร้อนที่ดีขึ้นได้ และยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงาน DIY เป็น กระถางต้นไม้ ที่ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา สามารถประดิษฐ์ได้ง่ายด้วยตนเอง


ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและชุมชน ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการนำไปต่อยอดขยายผลผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการให้ทีมงานไปถ่ายทอดองค์ความรู้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โทร. 0-2549-3410

ที่มา http://www.eat543.com/post06092561016801