แพทย์ศิริราช เปิดตัว หน้ากากกันโควิด-กันละอองฝุ่น ซักซ้ำได้ 30 ครั้งโดยคุณภาพยังดีเหมือนเดิม

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ ร่วมกับพันธมิตร วิจัยหน้ากากอนามัยผ้านาโน WIN-Masks คุณสมบัติป้องกันโรคโควิด 19 และฝุ่น PM2.5 สามารถซักใช้ซ้ำได้ 30 ครั้ง


เมื่อวานนี้ สำนักข่าวไทย รายงานว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศูนย์ความเป็นเลิศชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน) (TCELS), สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ (สทน.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา แถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรมหน้ากากที่ผลิตจากผ้านาโนกันไรฝุ่น และโรคโควิด-19 วิน มาส์ก (WIN-Masks)


โดยหน้ากากอนามัย WIN-Masks มีโครงสร้าง 3 ชั้น

– ชั้นแรกใช้วัสดุชนิดพิเศษผ้ากันไรฝุ่นศิริราชชนิดทอแน่น เคลือบสารนาโนกันน้ำ หรือละอองน้ำขนาดเล็กจากการไอจะไม่ติดที่ตัวผ้า ลดโอกาสสัมผัสถูกเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี

– ชั้นที่ 2 เป็นผ้าไมโครไฟเบอร์ผสมสารพิเศษ (ZnO) มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ดี

– และชั้นที่ 3 ใช้ผ้าฝ้ายที่สามารถดูดซับน้ำของการไอจาม ทำให้หน้ากากสามารถกรองฝุ่น และละอองฝอยจากเสมหะขนาดเล็ก ระดับ 2.5-5 ไมครอนได้

ซึ่งผ่านการวิจัยจาก วช. และการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดย สทน. คือผ่านการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่เชื่อถือได้


ด้าน ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากปัจจุบันที่ไทยมีความต้องการใช้งานหน้ากากอนามัยสูงขึ้น ทั้งในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน ศิริราชพยาบาล จึงต่อยอดนวัตกรรมผ้ากันไรฝุ่นที่มีอยู่เดิม วิจัยให้มีคุณสมบัติที่เพิ่มขึ้น สามารถผลิตเป็นหน้ากากนาโนกันไรฝุ่นและไวรัสโคโรน่า ในชื่อ วิน มาสก์ ที่มีคุณสมบัติป้องกันไวรัสต่าง ๆ และฝุ่นละออง PM2.5 ได้

ทั้งนี้ หน้ากากวิน มาสก์ ผ่านการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ฉายรังสีในการฆ่าเชื้อ ทำให้มีความสะอาดปราศจากเชื้อโรคตามมาตรฐานขั้นสูง แต่สามารถซักแล้วนำกลับมาซ้ำได้ถึง 30 ครั้ง ซึ่งคุณสมบัติในการป้องกันไรฝุ่น หรือเชื้อไวรัสไม่ลดลง


สำหรับ หน้ากากวิน มาสก์ ในระยะแรกจะทำการทดสอบผลิตชุดแรก 7,000 ชิ้นใน 2-3 สัปดาห์ โดยทุนการวิจัย วช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะนำไปใช้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังขาด พร้อมกับเก็บตัวอย่างการทดสอบการใช้งานจริง ทั้งประสิทธิภาพและความสะดวกสบายในการใช้งาน

เพื่อนำมาปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ก่อนการผลิตในรุ่นที่ 2 ที่จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 100,000 ชิ้นภายใน 2 เดือน หรือมากกว่า หากมีภาคเอกชนสนใจนำไปผลิตต่อยอดต่อไป

ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีหน้ากากอนามัยคุณภาพสูงส่งตรงให้เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในการปฏิบัติการเพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากการระบาดโรคโควิด 19 ในขณะนี้





ที่มา http://www.baterk.com/post12031351016903