หลายคนอาจจะมีคนครอบครัวหรือเพื่อนที่นอนกรน และอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่รู้หรือไม่ว่าการนอนกรนนั้นอันตรายมากกว่าที่คิด เพราะมีความเสี่ยงที่จะหยุดหายใจในขณะที่นอนหลับได้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ณัฏฐพงศ์ อื้อเศรษฐศักดิ์ อายุรแพทย์ประจำโรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ อธิบายว่า การนอนกรนเป็นอันตรายจริง เพราะบางบอกถึงการอุดตั้นทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นเป็นช่วงๆ ง่วงนอนในเวลากลางวัน มีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุจราจรหรือจากการทำงานมากกว่าคนทั่วไป
นอกจากนี้ยังพบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศอีกด้วย
ในเด็กอาจมีอาการนอนกรนได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเด็กที่มีท่าทางการนอนที่ผิดปกติ เช่น ชอบนอนคว่ำ นอนตะแคง หรือเด็กที่ไม่มีสมาธิที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้นาน หรืออาการสมาธิสั้น เด็กที่หงุดหงิดง่าย และปัสสาวะราดในเวลากลางคืน พ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตบุตรหลานว่ามีอาการดังกล่าวหรือไม่
ในด้านของความเชื่อเรื่องลดอาการกรนด้วยวิธีแปะปาก แปะคาง ไม่ให้อ้า นพ.ณัฏฐพงศ์ กล่าว่าว่า วิธีนี้ไม่สามารถช่วยแก้อาการนอนกรนได้ วิธีที่สามารถรักษาอาการนอนกรนได้คือ การใช้เครื่องมือทางทันตกรรมช่วยเลื่อนขากรรไกรลงมาทางด้านหน้าเพื่อทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น หรือการใช้เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน โดยเป็นการนำหน้ากากครอบจมูกขณะนอนหลับ หน้ากากจะต่อเข้ากับเครื่องที่สามารถขับลมแรงดันบวกออกมาขยายทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น
อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงยานอนหลับ หรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยากล่อมประสาท ยาลดน้ำมูกที่ทำให้ง่วง เพื่อหลีกเลี่ยงการนอนกรน
นพ.ณัฎฐพงศ์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับมีอันตรายถึงชีวิตได้หากปล่อยไว้นาน ควรหมั่นสังเกตตนเองหรือคนใกล้ชิดว่ามีภาวะนี้เกิดขึ้นกับเราหรือไม่ โดยอาการที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับคือ มีอาการหายใจขัด หายใจไม่สะดวก คล้ายสำลักน้ำลาย มีอาการสะดุ้งผวา หรือหายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ นอนกรน นอนกระสับกระส่ายมาก
สำหรับผู้ที่มีภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์ โดยทางการแพทย์จะใช้เครื่องมือ Sleep Test ในการตรวจ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการนอนกรนและผู้ที่มีอาการที่บ่งบอกว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ได้แก่ ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความอ่อนล้า ไม่สดชื่น นอนไม่เต็มอิ่ม ทั้งๆ ที่ได้นอนพักอย่างเต็มที่ หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย ง่วงนอนตอนกลางวัน เผลอหลับกลางวัน นอนหลับไม่ราบรื่น เช่น ฝันร้าย ละเมอ กระสับกระส่าย หายใจขัด หายใจไม่สะดวก ขณะนอนหลับ มีอาการสะดุ้งผวา หายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ ประสิทธิภาพในการทำงานหรือผลการเรียนแย่ลงเพราะอาการง่วง ขาดสมาธิ หากพบว่ามีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์
ที่มา : Khaosod