เชื่อว่าหลายคนน่าจะประสบปัญหากับการนอนกรนโดยเฉพาะคุณผู้ชาย ซึ่งมันอาจจะดูเป็นเรื่องปกติแต่มันแฝงไปด้วยอันตรายอย่างที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว! เรามาทำความรู้จักกับอาการนอนกรน รวมไปถึงสาเหตุการนอนกรนและวิธีการรักษาด้วย
อาการนอนกรนคืออะไร
อาการนอนกรนเกิดจากการที่อวัยวะในระบบหายใจส่วนต้นบางส่วนแคบลง ซึ่งเราสามารถตรวจความรุนแรงของอาการนอนกรนได้ผ่านการทำ Sleep Test ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถหาระดับความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ และอาการนอนกรนเป็นอาการสำคัญของภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ด้วย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนกรน
สาเหตุมาจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอหอยและผนังลำคอ ซึ่งจะเกิดขึ้นในขณะหลับ จึงทำให้เกิดการอุดกั้นระบบทางเดินหายใจในบางจุด และทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ เพดานอ่อน ผนังคอหอย โคนลิ้น และลิ้นไก่ ดังนั้นเมื่อระบบทางเดินหายใจแคบลง ก็จะทำให้การหายใจผ่านบริเวณดังกล่าวเกิดเสียง จนกลายเป็นการนอนกรนนั่นเอง
ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะนอนกรน
สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะนอนกรนและมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นมีดังนี้
1.พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่โดยส่วนใหญ่จะพบในเพศชาย
2.พบในเพศหญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน
3.ผู้ที่มีใบหน้ารูปเบี้ยว มีคางผิดปกติ หรือมีจมูกคด
4.มีโครงสร้างของช่องจมูกที่แคบ
5.มีน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน เพราะทำให้ทางเดินหายใจแคบ
6.ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคไต โรคภูมิแพ้ และโรคทางหัวใจ
7.ผู้ที่กินยาที่ส่งผลต่อการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อ
ลักษณะอาการนอนกรนที่ควรพบแพทย์
ในส่วนของอาการนอนกรนที่จำเป็นต้องพบแพทย์ คือ ผู้ที่มีอาการนอนกรนที่มีอาการสะดุ้งตื่นกลางดึกเพื่อหาอากาศหายใจ มีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะในตอนเช้า มีอาการง่วงระหว่างวัน และมีความต้องการทางเพศลดลง ซึ่งอาการดังกล่าวที่เกิดจากการนอนกรนนั้น ควรเข้ารับการตรวจเพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยอาการนอนกรนต่อไป
อันตรายสูงสุดจากการนอนกรน
หากพูดถึงอันตรายสูงสุดที่เกิดจากการนอนกรน ก็คงหนีไม่พ้นภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่อยู่ในระดับที่รุนแรง เพราะเป็นภาวะที่ส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่มีความเสี่ยงต่อการทำให้เสียชีวิต เช่น การเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจวาย หรือหากผู้ที่มีอาการนอนกรนเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตขณะหลับมากขึ้น
วิธีแก้ไขการนอนกรนเบื้องต้น
การแก้ไขอาการนอนกรนที่ไม่ได้อยู่ในระดับที่อันตราย ทุกคนสามารถทำได้ด้วยวิธีแก้ไขเบื้องต้นดังนี้
1.ปรับท่านอนใหม่ โดยให้ศีรษะอยู่สูงกว่าลำตัว
2.ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับมาตรฐาน
3.งดดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
4.หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
5.นอนให้ได้วันละ 7-8 ชั่วโมง
6.หลีกเลี่ยงการกินยาที่ทำให้ง่วงนอน
หากคุณผู้อ่านพบเห็นอาการของคนในครอบครัวที่เข้าข่ายนอนกรนในระดับอันตรายก็อย่างนิ่งนอนใจไป แนะนำให้ไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อหาวิธีการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนนะคะ
ที่มา : sanook