ความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู “พระพรหม” เป็น 1 ใน 3 มหาเทพ หรือที่รู้จักกันในนามเรียกว่า ตรีมูรติ อันประกอบด้วย พระนารายณ์ พระอิศวร และพระพรหม ที่ถือว่าเป็นผู้สรรค์สร้างสรรพสิ่งในโลก ถือเป็นเทพที่มีคุณธรรมสูงสุด เปี่ยมไปด้วยหลักพรหมวิหาร 4 โดยจะมีรูปลักษณ์ 4 พักตร์ (หน้า) หลายพระกรถือศาสตราวุธหลากหลายตามแต่ช่างจะสร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งในประเทศไทยก็มีสถานที่ไหว้พระพรหมอยู่หลายแห่ง วันนี้เราจึงหยิบเอาบางส่วนมาแนะนำกัน
การไหว้พระพรหม
พระพรหมมี 4 พักตร์ หันไปทั้ง 4 ทิศ ในการไหว้จึงควรไหว้ให้ครบทั้ง 4 ทิศ โดยเริ่มจากพักตร์แรก แล้วเวียนขวามือของเรา (หรือพระหัตถ์ซ้ายของพระพรหม) จนถึงพักตร์สุดท้าย ให้ครบทั้ง 4 พักตร์ ดังนี้
- พักตร์ที่ 1 ทางด้านทิศเหนือ : หรือสังเกตง่าย ๆ คือเป็นพักตร์ที่หันออกมาด้านนอก สำหรับบูชาขอพรเรื่องการงาน การเรียน การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง อำนาจบารมี และเรื่องที่เกี่ยวกับพ่อ โดยมีของไหว้เป็นธูป 16 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก และน้ำ 1 ขวด
- พักตร์ที่ 2 ทางด้านทิศตะวันออก : บูชาขอพรเรื่องทรัพย์สินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ ที่ดิน รวมถึงเงินหรือหนี้สินที่คนยืมไปแล้วไม่คืน โดยมีของไหว้เป็นธูป 36 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก และน้ำ 1 ขวด
- พักตร์ที่ 3 ทางด้านทิศใต้ : บูชาขอพรเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวและสุขภาพ โดยมีของไหว้เป็นธูป 39 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก และน้ำ 1 ขวด
- พักตร์ที่ 4 ทางด้านทิศตะวันตก : บูชาขอพรเรื่องเงินทอง โชคลาภ การเสี่ยงดวง และการขอลูก โดยมีของไหว้เป็นธูป 19 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก และน้ำ 1 ขวด
ทั้งนี้ เคล็ดลับวิธีขอพรสามารถขอเรื่องที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละพักตร์ได้ หรือถ้าจำไม่ได้ว่าพักตร์ใดควรขอเรื่องใด จะขอเรื่องเดียวกันทั้ง 4 พักตร์เลยก็ได้ ส่วนของไหว้จะใช้เป็นธูป 9 ดอก และเทียน 2 เล่ม จุดครั้งเดียวเลยก็สามารถทำได้
ของไหว้พระพรหม
- ดอกไม้ : ดอกมะลิ ดาวเรือง ดอกบัว ดอกโมก หรือดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ
- กำยานและธูป : ใช้จุดได้ทุกกลิ่น
- อาหาร : ควรเป็นขนมหวานรสอ่อน เน้นธรรมชาติให้มากที่สุด และห้ามถวายเนื้อสัตว์โดยเด็ดขาด
- ผลไม้ : ถวายได้ทุกชนิด แนะนำมะพร้าว สาลี่ ชมพู่ กล้วย เพราะมีความหมายที่ดี ถือเป็นผลไม้มงคลและช่วยเสริมดวงในด้านต่าง ๆ ได้
คาถาบูชาพระพรหม
การบูชาไหว้พระพรหมจำเป็นต้องสวดบูชาพระพิฆเนศก่อนทุกครั้ง โดยกล่าวคาถาบูชาพระพิฆเนศ “โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา” เพื่อเป็นการขอความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ให้มีโชค มีลาภ และทรัพย์สินเงินทอง สมหวังดังปรารถนา จากนั้นให้กล่าวคาถาบูชาพระพรหม ดังนี้
คาถาบูชาพระพรหม (ทางพราหมณ์ แบบย่อ) “โอม อหัม ปรัหมา อัสมิ”
คาถาบูชาพระพรหม (ทางพราหมณ์ แบบเต็ม)
“โอมปะระเมสะนะมัสการัม องการะนิสสะวะ รัง พรหมเรสสะยัม
ภูปัสสะวะวิษณุ ไวยะทานะโมโทติลูกปัมทะระมา ยิกยานัง
ยะไวยะลา คะมุลัม สะทา นันตะระ วิมุสะตินัน นะมัตเต
นะมัตเตร จะ อะการัง ตโถวาจะ เอตามาตาระยัต ตะมัน ตะรามา
กัตถะนารัมลา จะสะระวะ ปะติตัม สัมโภพะกลโล ทิวะทิยัม มะตัมยะ”
คาถาบูชาพระพรหม (ทางพุทธ)
ตั้งนะโม 3 จบ พร้อมกล่าวคำบูชาว่า
“โอม พรหมมะเณ ยะนะมะ
โองการพินทุ นาถังอุปปันนาถัง
สุอาคะโต ปัญจะปะทุมมัง
พรหมมาสะหัมปะตินามัง ทิสสะวา
นะโมพุทธายะ วันทานัง”
ในการไหว้เทวรูปพระพรหม หากไม่แน่ใจว่าเป็นทางพราหมณ์หรือทางพุทธ สามารถสวดคาถาบูชาบทใดบทหนึ่งก็ได้ หรือจะสวดทั้ง 2 แบบเลยก็ได้เช่นกัน
สถานที่ไหว้พระพรหมจากทั่วไทย
1. พระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ
ศาลท้าวมหาพรหมตั้งอยู่บริเวณโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ย่านใจกลางเมืองกรุงเทพฯ เดินทางสะดวกสบาย โดย “พระพรหมเอราวัณ” ถือเป็นเทพประจำทิศเบื้องบน มีอำนาจลิขิตชะตาชีวิตของทุกผู้ทุกนาม ถ้าได้มากราบไหว้ขอพรก็จะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ต้องการ ส่วนใหญ่คนจะนิยมมาขอเรื่องการงานให้ประสบความสำเร็จ เจริญก้าวหน้าในหน้าที่ ได้งานใหม่ หรือได้เลื่อนขั้น ซึ่งควรจะไหว้บูชาพระพรหมให้ครบทั้ง 4 พักตร์ 4 ทิศ คือ ด้านการงาน ด้านการเงิน ด้านความรัก และด้านภาพรวม ควรเริ่มจากการไหว้พระพรหมจากพักตร์แรก แล้วเวียนขวามือของเรา หรือพระหัตถ์ซ้ายของพระพรหม จนถึงพักตร์สุดท้าย หรือบนบานด้วยละครรำที่มีบริการด้านข้างศาลก็ได้
ทั้งนี้ หากต้องการไหวสักการะพระพรหม มีร้านค้าจำหน่ายชุดบูชา ที่ประกอบด้วยธูป 12 ดอก เทียน 4 เล่ม พวงมาลัยมะลิและดาวเรือง และทองคำเปลว 4 แผ่น โดยเริ่มบูชาจากด้านพระพักตร์ขององค์ท้าวมหาพรหมที่หันมาทางประตู และวนรอบองค์ตามเข็มนาฬิกา จุดธูปไหว้ด้านละ 3 ดอก พร้อมด้วยเทียน พวงมาลัย และทองคำเปลว แต่ละด้านขององค์ท้าวมหาพรหม
คาถาบูชาพระพรหมเอราวัณ
โอมปะระเมสะนะมัสการัม องการะนิสสะวะ รัง พรหมเรสสะยัม ภูปัสสวะวิษณุ ไวยะทานะโมโทติลูกปัม ทะระมา ยิกยานัง ยะไวยะลา คะมุลัม สะทา นันตะระ วิมุสะตินัน นะมัตเต นะมัตเตร จะ อะการัง ตโถวาจะ เอตามาตาระยัต ตะมัน ตะรามา กัตถะนารัมลา จะสะระวะ ปะติตัม สัมโภพะกลโล ทิวะทิยัม มะตัมยะ
แบบย่อ คือ โอม อหัม ปรัหมา อัสมิ
- ที่ตั้ง : 494 ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-22.00 น.
2. พระพรหม เทวสถานโบสถ์พราหมณ์
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์ ตั้งอยู่บริเวณเสาชิงช้า วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และไม่ไกลจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2327 ดูแลโดยคณะพราหมณ์ นำโดยพระราชครูวามเทพมุนี กองพระราชพิธีสำนักพระราชวัง ภายในมีให้สักการะ 3 สถาน ได้แก่ สถานพระอิศวร สถานพระคเณศ สถานพระนารายณ์ ซึ่งบริเวณประตูทางเข้าจะมี “พระพรหม” สร้างโดยพระราชครูวามเทพมุนี ประดิษฐานอยู่ภายในเทวลัยขนาดเล็กกลางบ่อน้ำ ให้ได้สักการบูชากันด้วย
- ที่ตั้ง : 268 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น.
3. พระพรหม วัดพระศรีมหาอุมาเทวี
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือที่เราเรียกกันว่า วัดแขก (สีลม) เป็นวัดทางศาสนาฮินดูแห่งหนึ่งในประเทศไทย สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้นับถือองค์เทพฮินดูต้องไปไหว้สักครั้ง สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ถวายการบูชาพระแม่มริอัมมัน ประธานของวัด ซึ่งเป็นอวตารของพระแม่อุมาเทวี พระชายาผู้มั่นคงในความรักที่มีต่อพระศิวะ มักไปขอพรในเรื่องความรัก การงาน การเงิน และการเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีองค์เทพ-เทพีอื่น ๆ หนึ่งในนั้นคือเทวรูป “พระพรหม” ที่มีศิลปะแบบฮินดู ทำจากสำริด รูปลักษณ์งดงาม ประดิษฐานอยู่บริเวณด้านหน้าให้ได้สักการะกันด้วย โดยของที่ควรไหว้ เช่น ดอกมะลิ ดอกดาวเรือง ดอกบัว หรือดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ขนมหวานรสอ่อน เน้นธรรมชาติ ผลไม้ทุกชนิด และห้ามถวายเนื้อสัตว์โดยเด็ดขาด ทั้งนี้ แนะนำให้ไหว้พระพรหมทั้ง 4 ด้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล อีกทั้งควรแต่งกายสุภาพ และห้ามนำอาหารคาวเข้าไป
- ที่ตั้ง : 2 ถนนปั้น แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ
- โทรศัพท์ : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น.
4. เทวาลัยท้าวมหาพรหม แยกเพชรเกษม 69 กรุงเทพฯ
บริเวณริมถนนหนองแขม-บางแค ตรงแยกเพชรเกษม 69 จะเป็นสถานที่ประดิษฐาน “พระพรหม” อยู่ภายในศาลสไตล์จีน อีกทั้งบริเวณเดียวกันยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ให้ได้สักการะกันด้วย
คาถาบูชาพระพรหมเทวาลัยท้าวมหาพรหม
1. จุดธูปขอพร ด้านละ 3 ดอก (4 ด้าน)
2. จุดธูปบน 16 ดอก (ด้านหน้าด้านเดียว)
3. จุดธูปแก้บน 9 ดอก (ทั้ง 4 ด้าน)
ตั้งนะโม 3 จบ
โอมปะระเมสะนะมัสการัม องการะนิสสะวะ รัง พรหมเรสสะยัม
ภูปัสสะวะวิษณุ ไวยะทานะโมโทติลูกปัม ทะระมา ยิกยานัง
ยะไว ยะลา คะมุลัม สะทานันตะระ วิมุสะตินัน นะมัตเต นะมัตเตร
จะ อะการัง ตโถวาจะ เอตามาตาระยัต ตะมัน ตะรามา
กัตถะนารัมลา จะสะระวะ ปะติตัม สัมโภพะกลโล ทิวะทิยัม มะตัมยะ
เรื่องการแก้บนพระพรหม
จะเป็นบายศรีพรหมหรือบายศรีเทพ จะทำบุญใส่ตู้ค่าไฟ เป็นพวงมาลัยก็ได้ เป็นธูปเทียนก็ดี เพราะจะมีคนไหว้เป็นประจำ ถ้าเป็นการแก้บนเรื่องใหญ่ก็เป็นหนังหรือละคร ถ้าเป็นช้าง ม้า ไก่ ของดไหว้ เพราะเวลาเก่าแล้วหักพังไม่สวย จำเป็นต้องทิ้ง ซึ่งไม่มีที่จะทิ้งของเหล่านี้
- ที่ตั้ง : แยกคลองขวาง ถนนเพชรเกษม 69 เขตบางแค กรุงเทพฯ
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.
5. เทวาลัยพระพรหม สิงห์บุรี
สถานที่ประดิษฐานพระพรหมองค์ใหญ่ ปางเหยียบลูกฟักทอง ตั้งอยู่ไม่ไกลจากถนนสายเอเชีย ก่อนเข้าอำเภอพรหมบุรี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2551 ในโอกาสที่ระลึก 80 ปี พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี โดยมี 4 พระพักตร์ 8 พระกร ทรงจักร หอยสังข์ คัมภีร์ คนโท คทา บ่วง ดอกบัว และลูกประคำ
การสักการะขอพรพระพรหม
เดินเวียนขวารอบพระพรหม 3 รอบ (ตามเข็มนาฬิกา) ขอพรทุกพระพักตร์
- พระพักตร์แรก : พระพักตร์เมตตา ประทานพรเรื่องงาน เรียน และเรื่องรับผิดชอบในชีวิต
- พระพักตร์ที่สอง : พระพักตร์กรุณา ประทานพรเรื่องอสังหาริมทรัพย์ บ้าน ที่ดิน รถ
- พระพักตร์ที่สาม : พระพักตร์มุทิตา ประทานพรเรื่องสุขภาพ ครอบครัว คู่ครอง
- พระพักตร์ที่สี่ : พระพักตร์อุเบกขา ประทานพรเกี่ยวกับโชคลาภ เงิน ทอง การขอบุตร
คาถาบูชาพระพรหม
โอม พราหมเณ นะมะ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
(คำแปล) ขอเคารพพระพรหม … เมตตา สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้มิสุข … กรุณา สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้มีทุกข์ … มุทิตา ยินดีในการบุญ … อุเบกขา วางเฉยในบาป
ทั้งนี้ การเดินทางจากถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) อยู่ตรงก่อนเข้าอำเภอพรหมบุรี ฝั่งซ้ายมือ
- ที่ตั้ง : ถนนริมถนนสาย 32 (สายเอเชีย) ตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน
6. พระพรหม วัดสมานรัตนาราม จังหวัดฉะเชิงเทรา
วัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง เป็นสถานที่ประดิษฐานองค์พระพิฆเนศปางนอนเสวยสุขขนาดใหญ่ ว่ากันว่าเมื่อได้ไปกราบไหว้ปางนี้จะมีความสุขสบาย ความสุขบริบูรณ์มั่งคั่งพร้อมทุกด้าน อีกทั้งยังมีเทวรูป “พระพรหม” องค์ใหญ่ ที่เชื่อกันว่าหากได้สักการะจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นที่รักใคร่ของคนทั้งหลาย โดยบริเวณใต้ฐานพระพรหมจะเป็นจุดจำหน่ายของที่ระลึก เช่าบูชาเทวรูปต่าง ๆ รวมถึงมีการจัดแสดงเทวรูปอีกด้วย
คาถาบูชาพระพรหม
โอม อหัม ปรัหมา อัสมิ
- ที่ตั้ง : ถนนองค์การบริหารส่วนตำบลฉะเชิงเทรา 2012 ตำบลก้อนแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
7. พระพรหม วัดช่องแสมสาร จังหวัดชลบุรี
วัดคู่ชุมชนช่องแสมสาร ตั้งอยู่บนยอดเขา ที่นี่เป็นสถานที่ประดิษฐาน “พระพรหม” องค์ใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 7.88 เมตร สีทองอร่าม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 ว่ากันว่าหากได้มากราบไหว้จะเป็นสิริมงคล อีกทั้งภายในพระวิหารยังประดิษฐาน “พระสัมพุทธมหามุนีศรีคุณาศุภนิมิต” หรือที่เรียกกันว่า “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปปางสมาธิ สูง 5 เมตร ใบหน้าอิ่มเอิบ ที่ผู้คนนิยมมากราบไหว้ขอพรในเรื่องต่าง ๆ กันด้วย
- ที่ตั้ง : วัดช่องแสมสาร ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
- เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.
และนี่เป็นเพียงสถานที่ไหว้พระพรหมเพียงไม่กี่แห่งที่เรานำมาแนะนำกัน จริง ๆ ยังมีอีกหลากสถานที่หลายจังหวัด เอาเป็นว่าสะดวกที่ไหนก็ไปสักการะขอพรกันได้นะ
หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง