หลายคนยังคงกังวล และไม่ทราบเรื่องตัวหนังสือต่างที่อยู่บนยางรถยนต์ ซึ่งปกติแล้วคนส่วนใหญ่เมื่อนำรถไปเปลี่ยนยาง ก็มักจะดูเฉพาะ “เดือน-ปีที่ผลิต” บนแก้มยางเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ไหมว่ายางรถยนต์ทุกเส้นยังมีตัวเลขที่บ่งบอกถึงความนิ่ม-ความแข็งของเนื้อยาง รวมถึงอายุการใช้งานของยางเส้นนั้นๆ อีกด้วย
ค่า Treadwear บนแก้มยางคืออะไร?
หากสังเกตให้ดีจะพบว่าบนแก้มยางมีการระบุ “Treadwear” ตามด้วยตัวเลขเอาไว้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการแบ่งเกรดคุณภาพยางที่เรียกว่า Uniform Tyre Quality Grading (UTQG) โดยค่า Treadwear ใช้สำหรับบ่งบอกถึงอัตราความสึกหรอของยางเส้นนั้นๆ ซึ่งใช้ตัวเลขกำกับ เช่น 200, 260, 350, 400 หรือกระทั่ง 800 เป็นต้น
โดยยางที่มีค่า Treadwear สูงๆ บ่งบอกถึงอัตราการสึกหรอที่ช้ากว่า สามารถใช้งานได้ยาวนานกว่า ในทางกลับกัน ยางที่มีค่า Treadwear ต่ำ แสดงว่ายางเส้นนั้นมีอายุการใช้งานสั้นกว่า เนื่องจากยางมีอัตราการสึกหรอเร็วกว่านั่นเอง
อย่างไรก็ดี ยางที่มีค่า Treadwear สูงจะมีความแข็งของเนื้อยางมากกว่า จึงมักพบข้อเสียที่คนใช้รถทั่วไปไม่พึงประสงค์ เช่น ยางมีเสียงดัง แข็งกระด้าง ไม่เกาะถนนเท่าที่ควร ยางประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับรถที่ใช้งานหนัก ขับทางไกลเป็นประจำ จะช่วยยืดระยะเวลาในการเปลี่ยนยาง ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาน้อยลง
ส่วนยางที่มีค่า Treadwear ต่ำจะมีความนิ่มของเนื้อยางมากกว่า จึงทำให้มีการยึดเกาะถนนที่ดีกว่า เสียงรบกวนในขณะขับขี่ต่ำกว่า และให้ความนุ่มนวลมากกว่า แต่ข้อเสียคือ ยางมีอัตราการสึกหรอสูง จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนยางบ่อยมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ตัวเลข Treadwear ของยางแต่ละรุ่นถูกกำหนดขึ้นโดยผู้ผลิตยางเอง ไม่ใช่มาตรฐานของหน่วยงาน หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้นยางที่มี Treadwear 400 ของผู้ผลิต A อาจมีการสึกหรอแตกต่างจากยางที่มี Treadwear 400 ของผู้ผลิต B เล็กน้อย
นอกจากนี้ ประสิทธิภาพต่างๆ ของยางแต่ละรุ่น เช่น ความนุ่มเงียบ, ความทนทาน, การยึดเกาะถนน ฯลฯ ยังมีปัจจัยอื่นอีกนอกเหนือจากค่า Treadwear เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยาง, การออกแบบโครงสร้างยาง หรือการออกแบบลวดลายของดอกยาง เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เจ้าของรถต้องพิจารณาควบคู่กันไปด้วย
มาตรฐานการแบ่งเกรดคุณภาพยาง Uniform Tyre Quality Grading (UTQG) ยังมีการระบุถึง Traction และ Temperature เอาไว้ด้วย โดย Traction จะหมายถึงความสามารถในการยึดเกาะถนนโดยเฉพาะบนทางเปียก โดยไล่จากสูงสุดไปต่ำสุด คือ AA, A, B และ C ขณะที่ Temperature หมายถึงความสามารถในการทนความร้อน โดยมีค่าจากดีสุดไปยังแย่สุด คือ A, B และ C
ดังนั้นเมื่อเป็นแบบนี้ ก่อนเปลี่ยนยางครั้งต่อไป อย่าลืมสังเกตค่ามาตรฐานเหล่านี้กันด้วยนะครับ เพราะมันสำคัญกับความปลอดภัยจริงๆ