สมัยนี้มีเจ้าสาวจำนวนไม่น้อยไม่ยินดีจดทะเบียนสมรส ทว่าก็มีผู้หญิงไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงนิยมจดทะเบียนสมรส
การจดทะเบียนสมรสมีข้อดีและข้อด้อยอย่างไร
เราไปขอความรู้กับทนายผู้หญิงผู้ที่จะให้มุมมองแบบผู้หญิงเพื่อผู้หญิง “ทนายมล” แห่งรายการยามบ่ายกับทนายประชาชน ทางวิทยุครอบครัวข่าว 106 FM ชื่อจริงท่านคือ นฤมล โรจนารุณ
หลายคนอาจพอคุ้นหน้าค่าตาบ้างผ่านละครทีวีของค่ายกันตนาเมื่อหลายปีก่อน ทว่าปัจจุบันนอกจากท่านจะเป็นหมอความทางวิทยุแล้ว ท่านยังเป็นหมอยาสำเร็จการศึกษาด้านเภสัชกรรมแพทย์แผนไทย ประกอบธุรกิจส่วนตัวทั้งยาสมุนไพร (www.doctornimit.com) อาหารเสริม และความงามที่ชลบุรี
“สำหรับผู้หญิง พี่มลคิดว่าการจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญมาก”
งั้นเราไปไล่เรียงกันค่ะว่า ทะเบียนสมรสมีดีต่อผู้หญิงเราอย่างไร
จรดปากกาปั๊บ กฎหมายรับรองและคุ้มครอง
“เพราะกฎหมายรับรองและยอมรับในเรื่องของการคุ้มครอง” ทนายมล อธิบายเหตุผลว่า
“การจดทะเบียนสมรสในแง่กฎหมาย หมายถึงว่า ทันทีที่คุณจรดปากกาลงไปแล้ว นับตั้งแต่วันนั้น มีทรัพย์สินใดงอกขึ้นมา มันจะกลายเป็นสินสมรสทั้งหมด
ดังนั้นจึงตัดปัญหาเรื่องของทรัพย์สินไปได้เลย สินส่วนตัวยังอยู่ในสินส่วนตัวอยู่ แต่ถ้ามันงอกเงยขึ้นมา เช่น สามีของคุณเป็นเจ้าของกิจการอพาร์ทเมนต์ จรดปากกาวันนี้ไป รายรับค่าเช่าอพาร์ทเม้นท์…ทุกอย่างที่งอกเงยมา รวมถึงดอกผลจากธนาคาร เงินเดือนของสามีด้วย ครึ่งหนึ่งเป็นของเรา”
มิน่าทนายมลบอกว่าจำเป็น ส่วนประเด็นคุ้มครองก็คือ เรื่องบุตรอันสำคัญยิ่งในหัวอกหญิงเราผู้เป็นเมียและแม่
“ถ้าจดทะเบียนสมรสไปปั๊บ ก็จะได้บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย มันเป็นผลดี ในฐานะที่บุตรเป็นทายาทคนหนึ่ง ไม่ต้องไปยื่นคำร้อง ไม่ต้องไปทำอะไร”
ทนายมลอธิบายว่า ปกติบุตรเป็นที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาอยู่แล้ว แต่บุตรจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา ต้องเนื่องจากการจดทะเบียนสมรสกับมารดาเท่านั้น หรือถ้าไม่จดฯ ต้องให้สามีไปจดทะเบียนรับรองบุตร หรือสุดท้ายยุ่งยากมาก ต้องไปยื่นให้ศาลมีคำพิพากษาเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
ภรรยามีสิทธิรู้ทุกเรื่องของสามี โดยไม่ต้องแบกหนี้! ไม่ต้องแบ่งมรดกส่วนตัวให้!
“หลังจดทะเบียนสมรส ภรรยาเกิดได้รับมรดกมา สามีมองว่าตนก็ควรได้ด้วย อันนี้ไม่เกี่ยวนะคะ” ทนายมล จุดประเด็นที่มักเข้าใจผิดกัน
“ทรัพย์สินที่ได้มาโดยมรดกในระหว่างสมรส ถือว่าเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น เช่น แต่งงานอยู่กินมา ต่อมาฝ่ายภรรยาได้ที่ดินมามูลค่า 25 ล้าน สามีอย่าคิดว่า 25 ล้านเป็นของคุณนะคะ เป็นสินส่วนตัวของภรรยาค่ะ แต่ถ้าเกิดใน 25 ล้าน ภรรยาให้คนเช่าไป 1 ล้าน 5 แสนเป็นของคุณสามีค่ะ”
โอ้ว! ซับซ้อน แต่ไม่ยากเกินหรอกค่ะหากท่านผู้อ่านเพื่อนหญิงทั้งหลายต้องรู้ทันทำความเข้าใจกฎหมายนี้ให้ถ่องแท้นะคะ
“อีกอย่าง เวลาที่สามีไปทำนิติกรรมอะไรก็ตาม ภรรยาต้องรับรู้ด้วย”
หากสามีแอบไปสร้างภาระหนี้สินล่ะ ภรรยาต้องแบกรับภาระเหล่าหนี้ด้วยหรือไม่
“กฎหมายบอกว่า กรณีเอามาใช้จ่ายในครอบครัวในการดำเนินชีวิต ถือว่าเป็นสินสมรส เช่น มาจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าเลี้ยงดูแล ซึ่งเรานำสืบได้ แต่ถ้าเป็นหนี้สินเพราะเล่นพนันที่บ่อน ไปพนันฟุตบอล แล้วใช้บ้านที่เราทำมาหากินด้วยกัน เจ้าหนี้มีสิทธิ์ยึดค่ะ แต่ไม่เกินครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งยังเป็นของเรา กฎหมายคุ้มครองตรงนี้”
ค่อยยังชั่ว! ไม่งั้นถูกยึดหมด…แย่เลย กาดอกจันทร์ท่านผู้อ่านผู้เป็นภรรยาต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ เพื่อปกป้องสิทธิของเรานะคะ
ก่อนจดฯ ต้องพิจารณาฐานะ ขอทองหมั้นเยอะๆ สะสมเพชรพลอยไว้เลย
อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจจดทะเบียนสมรส ผู้หญิงควรใช้เวลาพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานะความมั่นคงของว่าที่สามีตามกฎหมาย
“ต้องดูว่าฝ่ายชายพร้อมไหม หมายความว่า เขามีฐานะเป็นอย่างไร ถ้าเขามีหลักทรัพย์มั่นคง มีความเป็นผู้นำ จดฯ ไปเถอะค่ะ” ในทางกลับกัน ถ้าฐานะของว่าสามีไม่เสถียร ไร้หลักทรัพย์ให้อุ่นใจล่ะคะ
“ถ้าไม่มีเลย และเรามีมากกว่า ก็ไม่ต้องจดฯ ค่ะ” ทนายมลตอบทันที ทั้งนี้ยังบอกวิธีสะสมทรัพย์สมบัติ
“พี่ยืนข้างผู้หญิง ว่าคุณต้องฉลาดที่จะต้องรู้ว่าเหมาะสมหรือไม่และอย่างไร กรณีผู้ชายมีหลักฐานมั่นคงดูดีทุกอย่าง จดไปเถอะเพื่อลูกของเรา และการที่จะมีลูก คุณต้องมีความมั่นใจ กฎหมายถึงออกกฎมาไงคะ คำว่า “สินสอดทองหมั้น” สินสอดให้พ่อแม่ฝ่ายหญิง ของหมั้นเป็นของผู้หญิง
ฉะนั้นระหว่างหมั้น เพื่อความมั่นใจปลอดภัยในชีวิตข้างหน้า ของหมั้นเยอะๆ ไว้น่ะดี เพราะหากต้องเลิกรากันไป ของหมั้นก็เป็นของเรา”
เท่านั้นไม่พอ ทนายมลยังแนะนำให้สะสมเครื่องประดับ
“ในระหว่างที่อยู่กินกัน เครื่องประดับส่วนตัวก็ยังคงเป็นของเรานะ เพชรหลายๆ กะรัต ทอง เข็มขัดทอง ซื้อไปเหอะ เพราะเวลาหย่าเลิกรากันไป ถือว่าเป็นของส่วนตัว
ขณะเดียวกัน ผู้ชายเล่นปืน ชอบสะสมปืน หรือบางคนสะสมไม้กอล์ฟ นาฬิกาแพงๆ นั่นก็เป็นเรื่องของเขา ถือเป็นสินส่วนตัว”
ทนายมลเผยอีกว่า เครื่องมือประกอบอาชีพก็ถือเป็นสินส่วนตัวถึงแม้จะได้มาระหว่างสมรส
“เค้าว่ากันว่าผู้หญิงเรามีช่วงนาทีทอง 3 เดือนแรกของการแต่งงาน ดังนั้นจะขออะไรรีบขอ” ทนายมลบอกเคล็ดลับซื้อเป็นเครื่องประดับเก็บก็ไม่เสียหาย ถือเป็นทรัพย์สินส่วนตัวอีก ที่สำคัญ ทันทีที่จรดปากกาเซ็นเป็นภรรยาทางนิตินัยแล้ว
“สิ่งแรกที่คุณต้องสืบทราบเลย เขามีทรัพย์สินอะไรบ้าง เขาก็ควรจะรู้ของเรา ไม่มีการปกปิดกัน เพราะหากเกิดการหย่าร้าง เราต้องทราบว่าสินส่วนตัวมีอะไรบ้าง สินสมรสมีอะไรบ้าง ต้องแยกกัน”
รักกันก็ต้องกล้าเปิดเผยให้ตรวจสอบ เพื่อความสบายใจในการอยู่ร่วม และชัดเจนยุติธรรมเวลาหย่าร้าง
ทั้งนี้กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนแต่งงาน สินส่วนตัว VS สินสมรสช่างมีรายละเอียดมาก ต้องไม่ลืมศึกษาหาข้อมูลนะคะ
“เพราะจริงๆ แล้ว การใช้ชีวิตคู่ร่วมกันเป็นเรื่องของคนสองคนด้วยหัวใจรักเป็นจุดเริ่มต้น และมีข้อกฎหมายเข้ามาเป็นบรรทัดฐานในการใช้ชีวิตร่วมกัน ดังนั้นไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไรก็ตาม ขอให้คำนึงถึง “ลูก” ซึ่งเป็นดวงใจของคุณทั้งสอง กรุณาใช้หัวใจในการตัดสินใจที่มีผลต่อชีวิตน้อยๆ นี้ด้วยนะคะ” ทนายมล ฝากข้อคิดปิดท้าย
:: ข้อดีของการไม่จดฯ
กรณีหลายคู่เห็นพ้องร่วมกันไม่จดทะเบียนสมรส หรือเคยจดฯ และก็หย่า
“เรียกว่า-หย่าการเมือง” ทนายมลเผยว่าส่วนใหญ่ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ
“เป็นการหย่าโดยนิตินัยเกิดขึ้น เพราะการทำธุรกิจมีโอกาสเกิดการยึดทรัพย์สินเกิดขึ้น มันก็เออนะ ถ้าชั้นยังอยู่กินกับเธอทางกฎหมายต่อไป ไอ้ทรัพย์สินที่หามาอาจต้องเกี่ยวข้อง
คือ ยังอยู่กินกันอยู่นะ แต่ภรรยาสบายใจ ว่าถ้าสามีไปขาดทุนธุรกิจการค้าอะไรสักอย่าง ก็จะจบแค่ตรงนั้น จะไม่เกี่ยวข้องกัน มันก็จะชัดเจนมากขึ้น ในทางปฏิบัติมีคนทำแบบนี้เยอะ”