7อาหารกินแล้วอารมณ์ดี-ห่างไกลซึมเศร้าตามหลักวิทยาศาสตร์

เมื่อเราเศร้าหรือท้อแท้ใจ เชื่อว่าเราหลายคนอาจหาวิธีต่าง ๆ มาทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลองทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงสภาพจิตใจของเรา เช่น การบำบัด การออกกำลังกายใหม่ๆ หรือการทำสมาธิ แต่ “การกินอาหารเพื่อสุขภาพ” มักจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่เราจะนึกถึง

อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์กลับค้นพบว่า “อาหาร” ที่เรากินเข้าไปมีบทบาทต่ออารมณ์ความรู้ของเราด้วย จากการศึกษาอาหารบางชนิดที่ทำให้ “เซโรโทนิน” ภายในสมองของเรามีเพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้เราควบคุมอารมณ์ได้มั่นคงมากขึ้น ขณะที่มีระดับเซโรโทนินต่ำส่งผลให้อารมณ์จะแปรเปลี่ยนได้ง่ายกว่า

รู้จัก “เซโรโทนิน”

เซโรโทนิน (Serotonin) เป็นสารชีวเคมีชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น มีคุณสมบัติเป็นทั้งสารสื่อประสาทและฮอร์โมน มีหน้าที่ควบคุมความรู้สึกเจ็บปวด ความหิว ความอิ่ม ความอยากอาหาร การนอนหลับ อารมณ์ทางเพศ และความรู้สึกสุขสงบ ช่วยระงับความโกรธและความก้าวร้าวได้

นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานในหลาย ๆ ส่วนของร่างกาย เช่น การย่อยอาหาร ความรู้สึกอยากหรือเบื่ออาหาร การนอนหลับ และโรคทางจิตเวชหลายโรคหากร่างกายหลั่งเซโรโทนินน้อยลง จะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ดังนี้

-อารมณ์และพฤติกรรม : ซึมเศร้า เกิดความเครียด วิตกกังวล อยู่ไม่สุข โกรธง่าย หงุดหงิด หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง รวมถึงเป็นสาเหตุหลักของโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ โดยมีสภาวะแวดล้อมและสิ่งกระตุ้นภายนอกเป็นปัจจัยร่วม ดังนั้นการให้เซโรโทนินจึงเป็นวิธีหนึ่งที่นำมาใช้รักษาโรคซึมเศร้า

-กระตุ้นอาการก่อนมีประจำเดือน : รู้สึกซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล อยากอาหารมากกว่าปกติ ไปจนถึงคลื่นไส้ อาเจียน

-มีปัญหาความจำ ขาดสมาธิ : รู้สึกกระวนกระวาย อ่อนเพลีย ขาดสมาธิ
-นอนไม่หลับ รู้สึกไม่สนชื่น

-นาฬิกาชีวิตเปลี่ยนไป : ง่วงนอนกลางวันมากกว่ากลางคืน
-วิตกกังวลมากขึ้น : ร่างกายเรามีตัวรับเซโรโทนินแตกต่างกันอย่างน้อย 14 ชนิด และ 5-HT1A คือ ตัวที่สำคัญที่สุดในทั้งหมด หากตัวรับชนิดนี้บกพร่องจะทำให้อ่อนไหวง่าย ประหม่า และขี้กังวลมากขึ้น

7อาหารเพิ่มความสุข

1.) ดาร์กช็อกโกแลต

ดาร์กช็อกโกแลต มีสวนประกอบ 3 อย่างที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกมีความสุข ได้แก่ ทริปโตเฟน ธีโอโบรมีน และฟีนิลเอทิลอะลานีน โดยทริปโตเฟนเป็นกรดอะมิโนที่สมองใช้ในการผลิตเซโรโทนิน ส่วนธีโอโบรมีนเป็นสารที่ช่วยปรับสมดุลอารมณ์ และฟีนิลเอทิลอะลานีนเป็นกรดอะมิโนอีกชนิดหนึ่งที่ร่างกายใช้ในการผลิตโดปามีน ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมความรู้สึกพึงพอใจในสมอง

2.) กล้วย

กล้วยอาจไม่มีส่วนช่วยฃเพิ่มความสุขโดยตรง แต่ภายในกล้วยอุดมไปด้วยวิตามิน B6 ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างเซโรโทนิน และกล้วยขนาดกลางลูกเดียวมีวิตามิน B6 มากถึง 0.4 มิลลิกรัม ซึ่งคิดเป็นประมาณ 25% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน

3.) มะพร้าว

มะพร้าวเต็มไปด้วยกรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง (Medium-chain Triglycerides) ซึ่งช่วยปรับสมดุลอารมณ์ และอีกเหตุผลหนึ่งที่มะพร้าวถือเป็นอาหารอารมณ์ คือ จากการศึกษาทดลองในสัตว์ปี 2560 พบว่ากรดไขมันอิ่มตัวสายกลางในกะทิช่วยลดความวิตกกังวลได้ อย่างไรก็ตามผลการศึกษานี้ยังต้องวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างความวิตกกังวลกับมะพร้าวในมนุษย์อย่างชัดเจนต่อไป

4.) กาแฟ

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ดื่มกาแฟปี 2016 พบว่า การดื่มกาแฟมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงการเกิดภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้ยังมีการศึกษาขนาดเล็กอีกชิ้นหนึ่งสรุปว่ากาแฟทั้งแบบมีคาเฟอีนและไม่มีคาเฟอีน ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ดื่มกาแฟหลอก

5.) อะโวคาโด

อะโวคาโดอุดมไปด้วย “โคลีน” ซึ่งร่างกายของเราใช้เพื่อควบคุมระบบประสาทและอารมณ์ โดยมีผลการศึกษาในปี 2020 พบว่าไขมันดีต่อสุขภาพในอะโวคาโดนั้น มีส่วนช่วยลดความวิตกกังวลในผู้หญิง นอกจากนี้ในอะโวคาโดยังมีวิตามินบี ซึ่งช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย

6.) เบอร์รี่

ความจริงแล้วการกินผลไม้มากขึ้นสัมพันธ์กับสุขภาพจิตที่ดีขึ้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลในปี 2016 พบว่าการกินผักและผลไม้ทำให้สุขภาพจิตของกลุ่มตัวอย่างดีขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลเบอร์รี่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหรือที่เรียกว่า “ฟลาโวนอยด์” ซึ่งลดอาการซึมเศร้าได้

นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยอื่นแสดงให้เห็นอีกว่าการกินบลูเบอร์รี่ยังเชื่อมโยงกับการบำรุงสมอง ชะลอการเกิดปัญหาการคิดช้าลงเมื่อเรามีอายุมากขึ้น

7.) อาหารหมัก

อาหารที่ผ่านกระบวนการหมัก เช่น กะหล่ำปลีดอง กิมจิ คีเฟอร์ คอมบูชา และโยเกิร์ต นอกจากจะช่วยรักษาลำไส้ให้แข็งแรงแล้วยังช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นด้วย เพราะในกระบวนการหมักจะสร้างโพรไบโอติก ซึ่งช่วยรักษาสมดุลจุลินทรีย์ดีที่มีอยู่ในลำไส้ที่มีส่วนช่วยให้เซลล์ต่างๆ ในลำไส้ทำหน้าที่สร้างเซโรโทนินอยู่แล้วประมาณ 90% สร้างสารความสุขเพิ่มขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม การกินอาหารที่มีประโยชน์ อย่างอาหารที่มีทริปโตเฟนสูง เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วเหลือง หรืออาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลม่อน ปลาทูน่า, การลดปริมาณน้ำตาล, การรับแสงแดดเป็นประจำ, การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการผ่อนคลายความเครียด ยังเป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้เซโรโทนินในร่างกายสมดุลอีกด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *