ถึงฤดูกาลแห่งผลไม้หน้าร้อนทีไร นักชิมชาวไทยก็จะคึกคักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคนที่ชอบกิน “ทุเรียน” เห็นที่ไหนก็อดใจไม่ไหวต้องพุ่งไปซื้อทุกที ตามมาด้วยกระแสแห่โพสต์รูปทุเรียนยั่วๆ บนโซเชียลเต็มไปหมด และอีกหนึ่งกระแสที่เคียงคู่กันมาทุกปีก็คือความเชื่อเกี่ยวกับการบริโภค “ทุเรียน” ว่ากินคู่กับอาหารบางชนิดแล้วอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
เรื่องนี้มีความจริงทางการแพทย์ยืนยันว่าการกิน “ทุเรียน” คู่กับเครื่องดื่มบางชนิดนั้น มีอันตรายถึงตายได้จริงๆ แต่ก็ยังมีอีกหลายความเชื่อที่เป็นการแชร์ข้อมูลแบบมั่วๆ ว่าอาหารหลายชนิดกินคู่ “ทุเรียน” ไม่ได้ ทำให้แฟนพันธุ์แท้ “ราชาผลไม้” เกิดอาการขยาดไม่กล้ากิน “ทุเรียน” ของโปรด
วันนี้ จะชวนคุณหาคำตอบให้รู้ชัดๆ ไปเลยว่า อาหารชนิดไหนบ้างที่กินคู่กับทุเรียนได้ไม่มีปัญหา และชนิดไหนที่ไม่ควรจับคู่กับทุเรียนเด็ดขาด! ถ้าพร้อมแล้วตามมาเช็คลิสต์ทางนี้..
1. “ทุเรียน” กับ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์”
ความเชื่อ : หากกินทุเรียนควบคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจมีฤทธิ์อันตรายถึงตายได้!
ความจริง : เป็นเรื่องจริง!
มีข้อมูลจาก กรมอนามัย ระบุว่า การบริโภค “ทุเรียน” ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบริโภคในช่วงเวลาติดต่อกัน อาจเป็นผลทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ เนื่องจากทุเรียนไปหยุดเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่ช่วยล้างพิษเหล้า มีชื่อว่า Aldehyde ปกติเอนไซม์นี้จะช่วยให้ร่างกายขับพิษเหล้าออกไปได้ดี แต่พอกินเหล้ากับทุเรียน ทุเรียนจะไปขัดขวางการทำงานดังกล่าว ทำให้พิษเหล้ายิ่งรุนแรงขึ้น
อีกทั้งทุเรียนเป็นอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ให้พลังงานสูงเช่นเดียวกัน เมื่อกินทุเรียนควบคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดกระบวนการเผาผลาญสูงมาก ทำให้ร่างกายเกิดความร้อนสูงมากกว่าปกติ เป็นผลทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ
ในทำนองเดียวกันมีข้อมูลจาก แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ ได้ให้ข้อมูลเรื่องนี้เอาไว้เช่นกันว่า การกินทุเรียนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก แล้วถ้าเมาและหลับไป ร่างกายจะขาดน้ำอย่างรุนแรง เมื่อถึงจุดหนึ่งสมองจะเสียน้ำมาก ระดับเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ สมองทำงานไม่ดี และอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น อาการหน้าร้อนวูบวาบ สั่น ง่วงซึม อาเจียน คลื่นไส้ หากหมดสติ และหากนำส่งโรงพยาบาลไม่ทันอาจเสียชีวิตได้
2. “ทุเรียน” กับ “ปูนา”
ความเชื่อ : หากกินทุเรียนคู่กับปูนา อาจเป็นพิษต่อร่างกายได้
ความจริง : ไม่จริง!
เรื่องนี้ยืนยันได้จาก อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเพจเฟซบุ๊ค “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ได้โพสต์ข้อความเตือนคนรักทุเรียนไว้ว่า
“..พอเข้าหน้าทุเรียนทีไร คำเตือนมั่วๆ เกี่ยวกับ “ห้ามกินทุเรียนคู่กับอาหารอื่น” ก็กลับมาระบาดอีกแล้วนะครับ อย่างในรูปนี้ (น่าจะมาจากของเวียดนาม) มีครบเลย ตั้งแต่ห้ามกินทุเรียนคู่กับน้ำอัดลม / ห้ามกินทุเรียนคู่กับมังคุด / ห้ามกินทุเรียนคู่กับปูนา / ห้ามกินทุเรียนคู่กับมะเขือยาว ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ มั่วหมดเลยนะครับ!! ไม่จริงสักอย่างเลยนะ อย่างเดียวที่เตือนกัน และเป็นเรื่องจริง ก็คือ ห้ามกินทุเรียนคู่กับพวกสุราแอลกอฮอล์ เท่านั้นครับ..”
3. “ทุเรียน” กับ “น้ำอัดลม”
ความเชื่อ : หากกินทุเรียนคู่กับน้ำอัดลม ทำให้เสี่ยงเสียชีวิตได้
ความจริง : ไม่จริง! (แต่ก็ไม่ควรกินคู่กันเพราะน้ำตาลสูง)
มีข้อมูลจาก กรมอนามัย ระบุว่าหากกินทุเรียนในปริมาณ 4-6 เม็ด ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานถึง 520 – 780 กิโลแคลอรี เทียบได้กับการดื่มน้ำอัดลม 2 กระป๋อง หรือข้าวสวย 5 ทัพพี หรือข้าวมันไก่ 2 จาน ดังนั้นผู้ที่ชื่นชอบทุเรียนควรจำกัดปริมาณการกินให้พอเหมาะ ห้ามกินทุเรียนเกินวันละ 2 เม็ดขนาดกลาง
สำหรับคนสุขภาพปกติทั่วไป การกินทุเรียนคู่กับน้ำอัดลมนั้นพบว่าไม่มีอันตรายอะไร แต่ข้อเสียคือจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลในปริมาณที่สูงมาก ทำให้เกิดอาการร้อนในได้ง่าย แต่สำหรับผู้ที่ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง ควรเลี่ยงการกินทุเรียนคู่กับน้ำอัดลมอย่างเด็ดขาด เพราะจะไปกระตุ้นอาการของโรคให้กำเริบได้ หากอยากกินก็สามารถกินได้ แต่ควรกำหนดปริมาณให้น้อยกว่าคนปกติและไม่บ่อยครั้ง
4. “ทุเรียน” กับ “ยาลดไข้”
ความเชื่อ : หากกินทุเรียนคู่กับยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล อาจเป็นพิษต่อร่างกายได้
ความจริง : ยังไม่พบข้อมูลที่ยืนยันได้!
อย่างที่รู้ๆ กันดีว่า หากกินทุเรียนเยอะจะเกิดอาการตัวร้อนหรือมีอาการร้อนใน ตัวร้อนเหมือนเป็นไข้ บางคนก็เลยไปกินลดไข้ตามลงไปหวังจะให้หายจากอาการตัวร้อนนั้น ซึ่งบางความเชื่อบอกว่าห้ามกินยาลดไข้หลังกินทุเรียน เพราะจะทำให้เกิดพิษต่อร่างกายได้
เรื่องนี้มีข้อมูลจากเว็บไซต์ Pobpad.com ระบุว่าการรับประทาน “ทุเรียน” ในปริมาณมากๆ แล้วส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูงขึ้นนั้น ห้ามรับประทานพร้อมยาพาราเซตามอล เพราะเสี่ยงต่อการเกิดปฏิกิริยาที่เป็นพิษต่อร่างกาย โดยมีงานวิจัยที่ทดสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้กับหนูทดลอง พบว่าทุเรียนไม่ได้ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายของหนูเพิ่มขึ้น ส่วนหนูที่ได้รับทุเรียนผสมกับพาราเซตามอลพบว่ามีอุณหภูมิร่างกายที่ลดลงจริง แต่กลไกเกี่ยวกับการเกิดผลพิษของยานั้นไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์ปฏิกิริยาของทุเรียนกับยาพาราเซตามอลในคนโดยตรง
5. “ทุเรียน” กับ “มังคุด ลำไย ลิ้นจี่”
ความเชื่อ : หากกินทุเรียนคู่กับ ลำไย ลิ้นจี่ ขนุน จะทำให้เป็นร้อนในและเสี่ยงต่อน้ำตาลในเลือดสูงได้
ความจริง : เป็นเรื่องจริง!
แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ ให้ข้อมูลเรื่องวิธีการกินทุเรียนไว้ว่า วิธีกินทุเรียนที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายนั้น ควรจำกัดปริมาณการกินให้เหมาะสม และควรกินผลไม้หลากหลายชนิดในแต่ละวัน อาจกินทุเรียนคู่กับมังคุด เพราะมังคุดเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็นที่ช่วยต้านความร้อนที่เกิดจากกินทุเรียนได้ และมังคุดมีเส้นใยอาหารสูง มีสารต้านการอักเสบได้
แต่มีอีกข้อมูลจาก แววตา เอกชาวนา นักกำหนดอาหารวิชาชีพ ระบุว่า มังคุดเป็นผลไม่ฤิทธิ์เย็นก็จริงแต่ก็ถือเป็นผลไม้หน้าร้อนที่มีปริมาณน้ำตาลสูงเช่นกัน จึงไม่ควรกินในปริมาณที่มากเกินไป หากกินทั้งทุเรียนและมังคุดในปริมาณมากๆ ก็อาจทำให้เป็นร้อนในได้อยู่ดี อีกทั้งควรเลี่ยงการรับประทานทุเรียนคู่กับผลไม้หวานจัดชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น ลำไย ลิ้นจี่ ขนุน เป็นต้น ทางที่ดีควรจำกัดปริมาณการกินทุเรียน เปลี่ยนเป็นกินผลไม้น้ำตาลต่ำชนิดอื่นๆ บ้างก็จะดีต่อร่างกาย
6. “ทุเรียน” กับ “น้ำเปล่าเยอะๆ”
ความเชื่อ : หากกินทุเรียนคู่กับน้ำเปล่าเยอะๆ ช่วยแก้อาการร้อนในได้ดีที่สุด
ความจริง : เป็นเรื่องจริง!
อย่างที่บอกไปข้างต้นในหลายๆ ข้อว่า “ทุเรียน” เป็นผลไม้ที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง น้ำตาลสูง หากกินในปริมาณมากก็ทำให้เป็นร้อนในได้ง่าย ทำให้ร่างกายต้องทำงานหนักมากขึ้น หากกินในมื้อเย็นจะทำให้อึดอัด และนอนหลับได้ไม่ดี
ดังนั้นนักโภชนาการและแพทย์จึงฟันธงตรงกันว่าให้กินแต่พอดี และอีกหนึ่งอย่างที่ช่วยได้คือ หลังกินทุเรียนเสร็จให้ดื่ม “น้ำเปล่า” ตามมากๆ เพื่อขับสารซัลเฟอร์ในทุเรียนและช่วยแก้อาการร้อนในได้ดี (อาจดีกว่าการกินทุเรียนคู่กับมังคุดด้วยซ้ำ) และยังทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานจากทุเรียนได้ดีขึ้น