ใครคิดว่า “ส้วม” หรือสุขา หรือ Toilet เป็นเรื่องเล็กๆ คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะในความเป็นจริง “ส้วม” เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกหลังปี 2015 ที่ได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติเป็นพันธะสัญญาที่เรียกว่า“Transforming Our World: the 2030 Agenda for Sustainable Development” หรือ “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030” โดยทุกประเทศต้องพัฒนาส้วมให้สะอาด มีมาตรฐาน ภายในระยะเวลา 15 ปี ถือเป็นทิศทางการพัฒนาที่ทุกประเทศที่ต้องดำเนินการร่วมกัน ตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 ไปจนถึงปี ค.ศ.2030
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินงานพัฒนาส้วมสาธารณะไทยมาตั้งแต่ปี 2547 โดยพัฒนาส้วมสาธารณะไทยให้ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะไทย สะอาด (Healthy : H) เพียงพอ (Accessi bility: A) ปลอดภัย (Safety) และได้มีการแต่งตั้ง “มิสเตอร์แฮปปี้ทอยเล็ต”เป็นครั้งแรกของประเทศ โดยมีนายวัน อยู่บำรุง อดีตผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีในเวลานั้น เป็น “มิสเตอร์แฮปปี้ทอยเล็ต” คนแรกของประเทศไทย
จึงไม่น่าแปลกใจที่การหวนคืนกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งในรอบ 16 ปี ของ “วัน อยู่บำรุง” ในฐานะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี สิ่งที่เขาอยากรื้อฟื้นและทำมากที่สุดคือ การมี มิสเตอร์แฮปปี้ทอยเล็ต เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการมีส้วมสะอาด ได้มาตรฐานอีกครั้ง
ผู้ช่วย รมต.สาธารณสุข บอกว่า จะนำเรื่องนี้หารือกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข และคณะผู้บริหารของกระทรวง ว่าจะทำอย่างไรต่อได้หรือไม่ เช่น รณรงค์สถานที่สาธารณะทุกที่ สถานีขนส่งให้พัฒนาห้องสุขาให้สะอาดยิ่งขึ้น ตรงไหนดีก็มีโลโก้กระทรวงติดไว้ ซึ่งอนาคตหากกระทรวงสนใจสานต่อ แต่เห็นว่าผมอายุเยอะแล้ว เดี๋ยวจะทาบทามลูกชายผมให้ก็ได้
มิสเตอร์แฮปปี้ทอยเล็ต (Mr.Happy Toilet) คือใคร และต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง นิว นอร์มอล ตามไปเจาะลึกเรื่องนี้กับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้คำตอบว่า บทบาทของมิสเตอร์แฮปปี้ทอยเล็ตมีด้วยกัน 3 ส่วนหลักๆ คือ
1.ขับเคลื่อนการพัฒนาส้วมสาธารณะ เป็นตัวแทนสื่อสารการพัฒนาส้วมใน setting ต่างๆ สร้างความรับรู้ (awareness) พฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้องให้กับประชาชน ประชาสัมพันธ์การใช้แพลตฟอร์มการประเมินรับรองส้วมสาธารณะ เชิญชวนให้ทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลรักษาความสะอาดส้วม (จิตอาสาทำความสะอาดส้วม/บริจาคสิ่งของหรือเงินในการดูแลส้วม)
2.ขับเคลื่อนการพัฒนาความครอบคลุมการมีและใช้ส้วมในพื้นที่ห่างไกล CSR เผยแพร่ความร่วมมือในการจัดให้มีส้วม เช่น เชิญชวนบริษัท ห้างร้าน หรือประชาชน ร่วมสนับสนุนงบประมาณในการสร้างส้วมในพื้นที่ขาดแคลน เพื่อการเข้าถึงการมีและใช้ส้วม
3.การจัดการส้วมและสิ่งปฏิกูลอย่างถูกต้อง สนับสนุนให้มีการจัดการสิ่งปฏิกูลจากส้วมอย่างถูกสุขลักษณะ ครบวงจร โดยความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการสูบสิ่งปฏิกูล
ในเอกสารยังเขียนถึงภารกิจที่ดูน่าสนใจ นั่นก็คือ การเป็นสายลับ ตรวจจับ ลักลอบทิ้ง (ขี้) พัฒนาระบบ manifest สิ่งปฏิกูล โดยความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลฯ และจัดการส้วมเคลื่อนที่ รถทัวร์ รถไฟ ส้วมแพ เรียกว่าตำแหน่งนี้ไม่ใช่ใครก็เป็นได้ และเป็นกันง่ายๆ ต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถ เป็นนักบริหารจัดการที่เก่งทีเดียว
นอกจาก Mr. Happy Toilet แล้ว ในระดับนานาชาติยังมีข้อมูลการทำให้ “ส้วม” เป็นเรื่องน่าสนใจมากขึ้น อย่างที่เมืองซูวอน นอกกรุงโซล ของเกาหลีใต้ มีการเปิดสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับส้วมโดยเฉพาะ มีการจัดแสดงห้องน้ำสไตล์โรมัน หม้อนอนแบบยุโรป และโถสุขภัณฑ์ชักโครกแบบเกาหลีโบราณ รวมถึงข้อเท็จจริงสนุกๆเกี่ยวกับอุจจาระ ที่เด็กๆเรียกว่า “สวนสนุกห้องน้ำแห่งแรกของโลก”
เหตุผลของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ส้วมที่ซูวอนครั้งนี้ มาจากการที่อดีตนายกเทศมนตรีเมืองซูวอน ซิม แจดั๊ก เห็นความสำคัญของการพัฒนาส้วม โดยก่อนหน้านี้ ในช่วงก่อนทศวรรษ 1980 ห้องน้ำสาธารณะของเกาหลีถูกมองว่า ทรุดโทรมและน่าขยะแขยง
ซูวอนเป็นเมืองแรกในการบุกเบิกเรื่องห้องน้ำของเกาหลีใต้ แจดั๊ก มองว่า การประปาที่เหมาะสมและห้องน้ำที่สะอาดมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความสะอาดที่ดี
ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง เพราะจากข้อมูลการสำรวจสุขภาวะที่เกิดจากการใช้ส้วมสาธารณะ พบว่า ส้วมที่ไม่สะอาดก่อให้เกิดความเสี่ยงจากการสัมผัสและได้รับเชื้อโรคที่อาจเกิดจากการสัมผัสอุปกรณ์ หรือสุขภัณฑ์และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องส้วม เช่น โรคติดต่อทางการสัมผัสโดยตรง ได้แก่ โรคตาแดง โรคเชื้อรา แผลอักเสบที่ผิวหนัง โรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคหวัด วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ โรคหัดเยอรมัน โรคระบบทางเดินปัสสาวะหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ โรคซิฟิลิส โรคหนองใน ไม่รวมความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการใช้ส้วมไม่ถูกต้อง เช่น การขึ้นไปนั่งบนชักโครกทำให้ตกลงมา ซึ่งก่อให้เกิดการบาดเจ็บลื่นล้ม ฯลฯ
แม้ว่า “ส้วม” จะเป็นที่ปลดทุกข์ สร้างความสุข แต่อีกด้านหากไม่มีการบริหารจัดการดูแลที่ดี ส้วมก็อาจเป็นที่สะสมของเชื้อโรค ที่สามารถแพร่กระจายจนมี ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อภายในห้องส้วมสาธารณะได้อย่างง่ายมาก
การมี Mr.Toilet หรือ Mr.Happy Toilet จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยตัดตอนความเสี่ยงของการเกิดโรคและยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของ SDG ที่เป็นเป้า หมายระดับโลกด้วย.