ภัยร้ายลาบดิบ! ปศุสัตว์เตือนระวังโรคแอนแทรกซ์

บุรีรัมย์ ปศุสัตว์จังหวัด เตือนระวังโรคแอนแทรกซ์ ในโค-กระบือ เหตุพบผู้ป่วย สปป.ลาว 3 ราย ห่วงชาวบ้านยังเปิบลาบดิบ หวั่นวิถีคนอีสานทำป่วย แนะระมัดระวังเลือกซื้อแหล่งเชื่อใจ

13 มี.ค. 67 – นายสัตวแพทย์อภิชาติ สุวรรณชัยรบ ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ ระบุว่า จากที่กรมปศุสัตว์ได้มีการแจ้งเตือนการพบโรคแอนแทรกซ์ ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนในประเทศลาว โดยมีสาเหตุจากการบริโภคเนื้อ โค – กระบือ ดิบ

จากรายงานข่าวต่างประเทศ 7 มีนาคม 67 พบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ 3 ราย ที่เมืองสุขุมา แขวงจำปาสัก ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้มีการยกระดับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรค โดยสั่งการให้ด่านกักกันสัตว์ตามแนวชายแดนไทย-ลาว เข้มงวด ตรวจสอบการลักลอบนำเข้า โค กระบือ แพะ และแกะ ที่มีชีวิต รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ และให้เตรียมความพร้อมด้านวัคซีนป้องกันโรค และขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ แพะ และแกะ ให้ดูแล สังเกตสัตว์เลี้ยงของตนเองให้ดี

ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ แจ้งว่า อยากฝากประชาสัมพันธ์ถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในการเฝ้าระวังการเกิดโรคแอนแทรกซ์ ซึ่งเป็นโรคสัตว์ติดคน โดยขอเรียนว่า จังหวัดบุรีรัมย์หรือในประเทศไทย ยังไม่มีรายงานการเกิดโรคนี้มานานแล้ว ซึ่งโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเฉียบพลัน ชื่อว่า เชื้อ Bacillus anthracis จะมีแผลที่ผิวหนัง แผลที่ทางเดินอาหาร หรือปอด

คนที่เลี้ยงสัตว์ หากเห็น สัตว์เลี้ยงเป็นแผลแล้วไม่มั่นใจ สามารถที่จะไปตรวจโรคได้ ว่าสัตว์ที่เลี้ยงป่วยผิดปกติ สำหรับลักษณะบ่งชี้ที่ชัดเจนหากสัตว์เลี้ยงป่วยเป็นโรคนี้ คือจะป่วยมีไข้สูง แต่จะต้องผ่านการตรวจ จึงจะยืนยันได้ว่า ป่วยเป็นโรคแอนแทรกซ์จริงหรือไม่

ส่วนวิธีสังเกตอาการของสัตว์ที่ป่วย คือจะไม่ค่อยกินหญ้า ไม่ค่อยเคี้ยวเอื้อง มีน้ำลายปนเลือด หายใจลำบากเนื่องจากเป็นแผลที่ปอด และที่ผิวหนัง ทำให้สัตว์เลี้ยงไม่กินอาหาร บางตัวอาจมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก ซึ่งถ้าเกิดสัตว์เลี้ยงเสียชีวิตส่วนใหญ่แล้ว จะมีเลือดออกทางช่องปาก ทางจมูก ทางรูทวาร หรืออวัยวะเพศ เลือดจะมีกลิ่นเหม็นคาวและไม่แข็งตัว

ดังนั้น เวลาสัตว์เลี้ยงตายผิดปกติ จึงไม่ควรจะผ่าซากเอง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ให้ทราบโดยด่วน จะได้เข้าไปควบคุม

ที่สำคัญคือไม่ควรนำเนื้อสัตว์ไปรับประทานแบบดิบๆ เพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ และสุดท้ายเพื่อไม่ให้เกิดความตระหนกตกใจ ก็ยังขอยืนยันว่า ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ยังไม่มีการเกิดโรคนี้ขึ้นแต่อย่างใด เป็นเพียงการแจ้งเตือนเพื่อเฝ้าระวังเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนชาวบ้าน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีการจัดงานบุญในหมู่บ้าน ยังคงนิยมกินทั้งลาบสุกและดิบ เพราะเป็นวิถีการกินและความชื่นชอบของคนอีสาน แต่ก็จะระมัดระวังในการเลือกซื้อหาเนื้อวัว หรือเนื้อหมูชำแหละ ที่จะนำมาประกอบอาหารมากขึ้น โดยจะเลือกซื้อจากเขียงที่ผ่านการชำแหละอย่างถูกวิธีสะอาดมีมาตรฐาน เพราะหากซื้อจากตลาดหรือแหล่งที่ไม่รู้จัก ก็ไม่รู้จะเนื้อหรือหมูดังกล่าวจะป่วยหรือติดเชื้อหรือไม่

ชาวอำเภอลำปลายมาศ บอกว่า กินลาบเนื้อ และลาบดิบมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีอาการเจ็บป่วย หรือโรคแทรกซ้อนอะไร แต่หลังจากที่มีข่าว ว่ามีโรคหูดับ หรือโรคแอนแทรกซ์ ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ ก็รู้สึกกลัวก็จะระมัดระวังในการกินเนื้อ หรือหมูดิบมากขึ้น ส่วนมากก็จะกินช่วงที่มีงานบุญต่างๆ แต่หากซื้อไปประกอบอาหารรับประทานเอง ก็จะเลือกซื้อเนื้อ หรือหมูชำแหละจากเขียง หรือแหล่งที่มาที่มั่นใจว่าปลอดภัย