ไขคำตอบ เมฆ วินัย ไกรบุตร เป็นโรคอะไร ทำไมหมอปัจจุบันรักษาไม่ได้ จนเสียชีวิต

 ต้องขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อการจากไปของ เมฆ วินัย ไกรบุตร ตำนานพระเอกร้อยล้านของเมืองไทย ที่เสียชีวิต เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 นำมาซึ่งความเศร้าโศกต่อคนในวงการบันเทิงเป็นอย่างมาก

เมฆ วินัย ไกรบุตร เป็นโรคอะไร ทำไมรักษาไม่หาย

 ทั้งนี้ กรมการแพทย์ รายงานว่า เมฆ วินัย ไกรบุตร ป่วยเป็นโรคเพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid) ซึ่งเป็นโรคตุ่มน้ำพองคล้ายกับ เพมฟิกัส โดยเกิดจากความผิดปกติในเรื่องการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ที่ทำลายโปรตีนที่ยึดผิวหนังชั้นกำพร้าและหนังแท้เอาไว้ จึงทำให้ผิวหนังแยกตัวออกจากกัน เกิดเป็นตุ่มตามร่างกาย และกินบริเวณกว้าง คุณเอ๋ ภรรยาของ เมฆ วินัย ไกรบุตร ก็เคยบอกว่า ตุ่มน้ำพองที่เกิดขึ้นนั้น ต้องเอาเข็มจิ้มและดูดน้ำออกอยู่ตลอดเวลา น้ำที่แตกมีทั้งน้ำใส น้ำข้น และน้ำเหลือง


          ในการรักษาโรค เพมฟิกอยด์ หรือโรค ตุ่มน้ำพอง นั้น จะเป็นการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน ร่วมกับยากดภูมิต้านทาน ซึ่งคนที่เป็นโรคนี้มักจะเป็น ๆ หาย ๆ และต่อให้หายแล้วก็กลับมาเป็นได้ใหม่ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ต้องกินยาต่อเนื่องเพื่อให้โรคสงบ

ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคเพมฟิกอยด์

          – ผู้ป่วยควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ

          – บริเวณที่เป็นแผลให้ใช้น้ำเกลือทำความสะอาด

          – ใช้แปรงขนอ่อนทำความสะอาดลิ้นและฟัน

          – ไม่แกะเกาผื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

          – ผู้ป่วยที่มีแผลในปาก ควรงดอาหารรสจัด งดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก

          – หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดคับ เพื่อลดการถลอกที่ผิวหนัง

          – หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยต้องมารักษาต่อเนื่อง มาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ กินยาต่อเนื่อง อย่าลดหรือเพิ่มยาเอง ดูแลแผลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้โรคสงบได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติ ไม่มีรอยโรคใหม่เกิดขึ้น

โรคเพมฟิกอยด์ หรือ ตุ่มน้ำพอง ร้ายแรงแค่ไหน ถึงขั้นที่เมฆ วินัย รักษาไม่หายเลยหรือ

          ในขณะที่ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเพชรเวช และ โรงพยาบาลเปาโล กล่าวว่า โรคตุ่มน้ำพอง หรือเพมฟิกอยด์ ไม่ใช่โรคที่รักษาได้หายในระยะสั้น ต้องมีการรักษาต่อเนื่องยาวนาน ผู้ป่วยมักจะมีตุ่มใส ๆ ขึ้นตามร่างกาย และเมื่อแผลแตกจะกลายเป็นแผลถลอก ลักษณะแผลจะเป็นสะเก็ดและเจ็บมาก พบได้ในผู้ป่วยอายุ 50-60 ปี

บริเวณที่พบโรคตุ่มน้ำพองได้บ่อย คือ หน้าอก หน้าท้อง ศีรษะ หรือบริเวณที่มีการเสียดสี แต่อาจจะมีแผลบริเวณอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ช่องปาก เยื่อบุช่องคลอด ทางเดินหายใจ

  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในผู้ป่วยหลายคน โรคนี้จะรักษาหาย แต่ในเคสของเมฆ วินัย ที่เป็นโรคนี้แต่เข้าขั้นรุนแรง เมฆมีอาการปวด แสบ คัน บางครั้งถึงขั้นกลืนลำบาก เพราะแผลลามไปถึงคอและกล่องเสียง และหากแผลติดเชื้อจะเป็นหนองและมีกลิ่นเหม็น เมื่อแผลหายก็จะทิ้งรอยดำเอาไว้ ซึ่งในระดับที่รุนแรงนั้นผู้ป่วยจะติดเชื้อในกระแสเลือด มีไข้สูง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมีปัญหาและเสียชีวิตในที่สุด

ภาพจาก กรมการแพทย์