เวลาที่ต้องเดินทางไกล ทั้งรถทัวร์ รถไฟ หรือเครื่องบิน หลายคนก็คงอยากขึ้นไปแล้วนอนพักผ่อน ดูหนังดูละครตามประสา ทว่าหลายครั้งหลายที บรรยากาศก็ไม่เป็นใจ โดยเฉพาะหากมีเด็กมาอยู่ด้วยแล้วร้องแหกปากกรี๊ดลั่น อาจทำให้หลายคนนอนไม่หลับ พาลหงุดหงิดชีวิต หงุดหงิดเด็ก และหงุดหงิดผู้ปกครองไปด้วย
ล่าสุด 23 มีนาคม 2567 พี่โจวครับ สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ได้ออกมาเล่าประสบการณ์พร้อมขอคำปรึกษา ในกรณีที่เดินทางแล้วต้องเจอเด็กร้องไห้บนเครื่องบิน ซึ่งตัวเขาได้ขึ้นเครื่องบินในไฟล์ตกลางคืน เดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง ในตอนแรกก็พยายามกลืนน้ำลายตัวเองเพื่อลดอาการหูอื้อ และพอเครื่องบินขึ้นไปได้ระยะหนึ่ง ในเคบินก็ค่อย ๆ หรี่ไฟ และตัวเขาก็พร้อมที่จะหลับ แต่กลับพบว่ามีเด็กที่นั่งถัดไปเก้าอี้ 2 ตัวด้านหน้า ร้องไห้งอแงเสียงดังแสบแก้วหู
ในตอนแรกเขาก็พยายามอดทน ข่มตาให้หลับ เพราะคิดว่าเดี๋ยวเด็กก็หลับไปเอง แต่กลายเป็นว่าเด็กไม่หยุดร้อง แหกปากเป็นชั่วโมง คนในเคบินคนอื่นก็ไม่ไหว แม่เด็กปลอบยังไงก็ไม่หยุด จนกระทั่งมีผู้หญิงคนหนึ่งเริ่มทนไม่ไหว เลยเรียกแอร์มาคุยเพราะอยากย้ายไปนั่งที่นั่งอื่น แต่บนเครื่องนั้นที่นั่งเต็มก็ย้ายไม่ได้ และเด็กไม่หยุดร้องสักที จนเขาเองก็อยากจะร้องดัง ๆ ว่า โอ้ยยยยยยยยยยยยย
ซึ่งสุดท้าย ได้มีคุณป้าคนหนึ่งได้เข้ามาถามเด็กว่า เป็นอะไรหรือเปล่าลูก แม่เด็กก็บอกว่า ลูกเพิ่งขึ้นเครื่องบินครั้งแรก อาจจะเมาเครื่องบิน ปรับความดันไม่ทัน คุณป้าจึงเสนอให้เด็กสนใจอย่างอื่น ให้แม่เอามือถือมาเปิดให้ลูกดู และลูบหลังลูกเรื่อย ๆ และเหมือนจะได้ผล เด็กก็ดูการ์ตูนในมือถือและหยุดร้องในที่สุด
“ผมมองยิ้มไปที่ป้า พอป้าเดินหันกลับมา ผมจึงยกมือชูนิ้วให้ ไม่ใช่นิ้วกลาง แต่เป็นนิ้วหัวแม่มือ
เยี่ยมไปเลยครับป้า ขอบคุณป้ามากครับ ป้าเหมือนตัวแทนนางป้าบนสวรรค์ลงมาโปรดมวลมนุษย์
ชาวต่างชาติ ฝรั่ง คนจีน บนเครื่อง ก็ยังชม good good เห่า เห่า แปลว่าดี
ทุกอย่างบนเครื่องเข้าสู่ความสงบ เหมือนเพิ่งจบจากสงครามครั้งใหญ่ ทุกคนพักรบจากความเหนื่อยล้า ที่ต้องทนต่อสู้กับข้าศึก เป็นเวลาอันยาวนาน”
วิธีจัดการกับ เด็กร้องไห้บนเครื่องบิน ทั้งจัดการตัวเอง และจัดการเด็ก
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ได้มีคนมาแสดงความคิดเห็นหลากหลาย และพูดถึงวิธีจัดการทั้งตัวเราเอง ทั้งตัวเด็ก หากเกิดเหตุการณ์เด็กร้องไห้บนไฟล์ต ดังนี้
– หากเรารู้สึกรำคาญเสียงเด็กร้อง เวลาขึ้นเครื่องบินครั้งหน้า ให้พกหูฟังแบบ Noise Cancellation ไปด้วย แม้จะไม่สามารถกันเสียงได้ทั้งหมด แต่ผ่อนหนักเป็นเบาได้ และเวลานอนก็ไม่ต้องเปิดเพลง แต่ใส่ไว้เฉย ๆ จะช่วยลดเสียงได้
– พกที่อุดหูไปด้วย แม้จะช่วยไม่ได้มาก แต่ก็ยังพอตัดรำคาญเสียงเด็กไปได้
– เวลาที่เช็กอินและเลือกที่นั่งบนเครื่อง พยายามขอที่นั่งที่ห่างจากแถวหน้าสุด ซึ่งจะเป็นที่นั่งที่มีพื้นที่กว้าง และสามารถวางเปลได้ หลายครั้งหลายครอบครัวจะเอาเด็กเล็กไปนั่งตรงนั้น
– กินเมลาโทนีน กินยาแก้เมารถ เพื่อช่วยให้นอนหลับได้ง่ายกว่าปกติ
– การเข้าไปกดดัน ตำหนิบอกพ่อแม่ว่าคุณต้องสั่งให้ลูกหยุดร้อง ยิ่งสร้างความตื่นตระหนกให้พ่อแม่ที่พยายามหาทางให้ลูกเงียบอยู่แล้ว ดังนั้น หากเป็นไปได้ควรเข้าไปพูดดี ๆ และหาทางช่วยเหลือกันจะดีกว่า
– ทำใจ สวดมนต์ในใจ เพราะเด็กน่าจะเจ็บหูเมื่อเครื่องบินบินขึ้นที่สูง และเด็กก็ทนไม่ไหวจึงร้องออกมา
– หากเป็นพ่อแม่ที่มีลูกร้อง ต้องพยายามดึงความสนใจลูก การปลอบลูกให้หลับ พาเดินบนเครื่อง อาจไม่ได้ผล อาจต้องดึงความสนใจลูกด้วยของเล่น เกม ให้ลูกวาดภาพระบายสี ขนม
– ก่อนขึ้นเครื่องบิน ให้พ่อแม่ฝึกลูกให้ลูกกินให้อิ่มก่อนขึ้นเครื่อง 1-2 ชั่วโมง หรือกะมื้ออาหารให้ช้าลง เพื่อที่เวลาลูกขึ้นเครื่องบิน ลูกจะได้นอนหลับในทันที
– หากลูกโตแล้ว ต้องบอกให้ลูกสังเกตมองดูสิ่งรอบข้าง ฝึกให้ลูกปรับตัว สอนให้ลูกเกรงใจ บอกให้ลูกแก้อาการปวดหูด้วยการอ้าปาก เคี้ยวขนม เคี้ยวปากเปล่า