เงินชราภาพ ของประกันสังคม ใครมีสิทธิ์ได้บ้าง เลือกแบบไหนดีระหว่าง “บำเหน็จ VS บำนาญ” ขอรับได้อย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง
คนทำงานส่วนใหญ่ คงคุ้นเคยกันดีกับ “สิทธิประกันสังคม” เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับ โดยเฉพาะในยามเกษียณ
เชื่อว่าบางคนอาจเกิดข้อสงสัย เกี่ยวกับเงินที่ถูกหักไปมันจะคุ้มค่าไหมกับเงินคืนจากประกันสังคมที่เราจะได้รับคืนในยามเกษียณ เงินที่ว่านี้ก็คือ เงินชราภาพ นั่นเอง อยากรู้มั้ย เงินชราภาพมีกี่แบบ และจะได้รับตอนไหน
ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินชราภาพ
ผู้ประกันตนมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39
- อายุ 55 ปีบริบูรณ์
- สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน หรือเสียชีวิต หรือสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง
ผู้ประกันตน ตามมาตรา 40
- อายุ 60 ปีบริบูรณ์
- แจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน หรือเสียชีวิต
กรณีผู้ประกันตนได้เสียชีวิต ตามกฎหมายสามารถให้ บุตร, บุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย, สามี-ภริยา ที่ชอบด้วยกฎหมาย, บิดา-มารดา ที่มีชีวิตอยู่, บุคคลที่ผู้ประกันตนได้ทำหนังสือระบุชื่อไว้ เป็นผู้รับเงินได้
ประเภทของเงินชราภาพ
บำเหน็จ คือ จ่ายให้ครั้งเดียว
- ข้อดี ได้เงินก้อนใหญ่มาเลยทีเดียว เหมาะกับคนที่ต้องการใช้เงินก้อน
- ข้อเสีย ได้บำเหน็จน้อยกว่าบำนาญ และมีโอกาสที่จะใช้เงินหมดก่อน หากอายุยืนอาจไม่มีเงินเพียงพอใช้ในบั้นปลายชีวิต
บำนาญ คือ จ่ายรายเดือนตลอดชีวิต
- ข้อดี ได้เงินมากกว่าและมีเงินใช้รายเดือนไปจนเสียชีวิต
- ข้อเสีย ไม่มีเงินก้อนสำหรับการลงทุนหากมีความต้องการ
เงื่อนไขรับเงินชราภาพ
- เงินชราภาพบำเหน็จ ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 180 เดือน
- เงินชราภาพบำนาญ ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน (15 ปีขึ้นไป) จะได้รับเงินบำนาญที่ประกันสังคัมจ่ายให้รายเดือนตลอดชีวิต
ยื่นขอรับเงินชราภาพได้อย่างไร
เอกสารหลักฐานที่สำคัญ : กรณีผู้ประกันตนยื่นขอรับเงินด้วยตนเอง
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม (สปส.2-01) (กรณีมาตรา 33, 39)
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01 / ม.40) (กรณีมาตรา 40)
- สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร)
- บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับจริง)
เอกสารหลักฐานที่สำคัญ : กรณีทายาทยื่นขอรับแทน
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม (สปส.2-01) หรือ สปส. 2-01 / ม.40 (ฉบับจริง 1 ฉบับ)
- สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร)
- ใบมรณบัตร (ฉบับจริงพร้อมสำเนา 1 ฉบับ)
- สูติบัตรของบุตร (สำเนา 1 ฉบับ)
- บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิรับเงิน (สำเนาอย่างละ 1 ฉบับ)
ช่อทางยื่นขอรับเงินชราภาพ
- สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-12 หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ
- ระบบการเบิกจ่ายประโยชน์ทดแทนด้วยตนเองของผู้ประกันตน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ www.sso.go.th
- ลงทะเบียน พร้อมเพย์ กับบัญชีเงินฝากธนาคาร