เป็นนโยบายเรือธงสำหรับพรรคเพื่อไทยที่กำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วน สำหรับดิจิทัลวอลเล็ต โดยเบื้องต้นมีรายละเอียดคร่าว ๆ ว่าจะเริ่มใช้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 วันที่ 24 เมษายน 2567 ไทยพีบีเอส รายงานว่า นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จนมีข้อสรุปเป็นหลักการเงื่อนไขของผู้ที่ได้รับสิทธิ 50 ล้านคน ดังนี้
– อายุ 16 ปีขึ้นไป
– มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
– มีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาท มีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
– มีการลงทะเบียนผ่าน Application บน Smartphone
การใช้จ่าย
– ต้องใช้จ่ายในเขตอำเภอตามทะเบียนบ้านเท่านั้น
– ใช้ในร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้กำหนดว่า ร้านค้าขนาดเล็กหมายถึงร้านใดบ้าง
– มีกรอบเวลาการใช้จ่ายเงิน 1 หมื่นบาทภายใน 6 เดือน เพื่อให้จบในโครงการ
ที่มาของเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาทในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
– งบประมาณประจำปี 2567 วงเงิน 1.75 แสนล้านบาท
– งบประมาณประจำปี 2568 วงเงิน 1.57 แสนล้านบาท
– งบประมาณจาก ธกส. 1.72 แสนล้านบาท
เป้าหมายโครงการ
คาดว่าประโยชน์ที่จะได้ในโครงการคือ งบประมาณปี 2568 จะกระตุ้นจีดีพีได้ 1.2-1.8% และผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจจะไม่ได้จบในปีเดียว ยังมีการเติบโตต่อไปอีกในปีที่ 2 และ 3 นี้ จะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 3.2-3.5 รอบ หรือ money multiplier แต่จะก่อให้เกิดตัวทวีคูณทางการคลังจะเกิดขึ้นประมาณ 1.2-1.4 เท่าของเม็ดเงิน 5 แสนล้านที่ใส่ไป นั่นหมายถึง 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นตัวเลข GDP ที่จะโตใน 3 ปี
จำนวนร้านลงทะเบียน
ตอนนี้มีตัวเลขร้านลงทะเบียนเข้าร่วมดิจิทัลวอลเล็ต 1.2 ล้านร้าน