กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ ที่เปิดประสบการณ์และความรู้ใหม่ทันทีในเรื่องของพืชพรรณต้นไม้ในกลุ่มเฟซบุ๊ก นี่ต้นอะไร ที่มีสมาชิกอยู่ในกลุ่มมากกว่า 2.5 แสนคน
เมื่อมีหนุ่มรายหนึ่งโพสต์ภาพใบไม้สีเขียว ลักษณะใบสวยงาม มีขนแหลมทั้งหน้าใบและหลังใบ พร้อมแคปชันประกอบว่า “ต้นอะไรครับ ไปโดนใบ รู้สึกคันมาก”
หลังจากนั้นก็มีคอมเมนต์จากชาวเน็ตเข้ามาช่วยตอบอย่างคับคั่ง รวมถึงแชร์ออกไปอีกเกือบ 300 ครั้ง พร้อมความคิดเห็นที่น่าตกใจมากมาย เช่น
– “ต้นนี้แหละที่ประวัติเมืองชุมพร เล่าว่าสมัยพม่ายกทัพมารบกับไทย สงคราม 9 ทัพ มีทัพหนึ่งเข้ามาทางระนอง เดินทัพทะลุไปชุมพร มีอยู่หมู่บ้านหนึ่งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำ มีต้นนี้อยู่เป็นดง ทหารพม่าลุยดงต้นนี้ตั้งใจจะมาตั้งค่ายพักตรงหาดใกล้แม่น้ำ เกิดอาการคันกันทั้งหมด คันมากพากันโดดลงแม่น้ำก็ยิ่งคันหนัก สุดท้ายทรมานมากมายมานอนเรียงรายที่หาด ตากแดดตายกัน ชาวบ้านเลยเรียกหาดนั้นว่าหาดตากแดด”
– “อย่าล้างน้ำนะครับเพราะอาการจะรุนแรงขึ้น”
– “เคยโดนตอนไปเดินป่าน้ำตกเหวกระถิน เขาใหญ่ แค่สัมผัสนิดเดียวแสบร้อนอย่างทรมาน”
– “ต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล อย่าเกาหรือพอกยาพ่นยาเอง จะติดเชื้อ เป็นแผล เป็นไข้ และติดเชื้อในกระแสโลหิตได้”
– “ต้นช้างร้อง มีพิษ คันมากๆ เหมือนเข็มทิ่มแทง ขนาดช้างยังร้อง คนไปโดนจะเหลืออะไร”
แน่นอนว่า ชาวเน็ตที่เคยมีประสบการณ์กับเจ้าต้นนี้ต่างลงความเห็นตรงกันว่ามันคือต้น “ช้างร้อง” โดยเพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เคยโพสต์ความร้ายกาจของมันไว้ว่า
“ต้นช้างร้อง สวยอันตราย ดอกสวย ซ่อนเข็มพิษใต้ใบ
สำหรับต้นช้างร้อง หรือ ตะลังกังช้าง ชาวบ้านบางถิ่นเรียก หนามจ้างฮ้อง โบราณว่าพิษรุนแรงมากกว่าพืชพิษชนิดอื่นๆหลายเท่า
ต้นช้างร้อง มีพิษรุนแรงกว่าพืชมีพิษชนิดอื่นๆหลายเท่า แม้ภายนอกอาจดูปกติเหมือนพืชทั่วไป แต่ใต้ใบของมันนั้นมีเข็มขนาดเล็กจิ๋วนับไม่ถ้วนพร้อมทิ่มแทงหากไปสัมผัสมันในช่วงกำลังออกดอกออกผลสวยงาม หากบังเอิญไปสัมผัสมันขึ้นมา จะเกิดอาการแสบร้อน คัน หรือในบางคนอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
การรักษาเบื้องต้นให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที และรีบไปพบแพทย์ ใครที่เดินป่าก็ขอให้เดินด้วยความระมัดระวัง พบเห็นพันธุ์ไม้สวยงามเตือนว่าให้ชมแค่ความงาม อย่าสัมผัสโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะเป็นการทำลายธรรมชาติแล้ว อาจเป็นอันตรายต่อตัวท่านเองได้”
นอกจากนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนิพนธ์ไว้ใน “นิทานโบราณคดี” เมื่อครั้งที่ได้เสด็จตรวจเส้นทางข้ามคอคอดกระไว้ว่า
“…ได้พบเห็นของประหลาดที่ไม่เคยรู้เห็นมาก่อนบางอย่างจะเล่าไว้ด้วยอย่างหนึ่ง คือ ต้นไม้ใบมีพิษเรียกว่า “ตะลังตังช้าง” เป็นต้นไม้ขนาดย่อม สูงราวห้าหกศอก ขึ้นแทรกแซมต้นไม้อื่นอยู่ในป่า ไม้อย่างนี้ที่ครีบใบมีขนเป็นหนามเล็กๆอยู่รอบใบ ถ้าถูกขนนั้นเข้าก็เกิดพิษให้เจ็บปวด เขาว่าพิษร้ายถึงช้างกลัว เห็นต้นก็ไม่เข้าใกล้ เพียงเอาใบตะลังตังช้างจี้ให้ถูกตัวก็วิ่งร้องไป จึงเรียกว่าตะลังตังช้าง ชาวชุมพรเล่าต่อไปว่า หาดริมลำธารแห่งหนึ่งในทางที่ฉันไปนั้น เรียกกันว่า “หาดพม่าตาย” เพราะเมื่อพม่ามาตีเมืองไทยในรัชกาลที่ ๒ พักนอนค้างที่หาดนั้น พวกหนึ่งไม่รู้ว่าใบตะลังตังช้างเอามาปูนอน รุ่งขึ้นก็ตายหมดทั้งพวก คนไปเห็นพม่านอนตายอยู่ที่หาด จึงเรียกกันว่าหาดพม่าตายแต่นั้นมา แต่ฉันฟังเล่าออกจะสงสัยว่า ที่จริงเห็นจะเป็นเมื่อพม่าหนีไทยกลับไป มีพวกที่ถูกบาดเจ็บสาหัสไปตายลงที่นั้น จึงเรียกว่าหาดพม่าตายมาแต่เดิม เผอิญคนไปเห็นแถวนั้นมีต้นตะลังตังช้างชุม ผู้ที่ไม่รู้เหตุเดิมจึงสมมติติว่าตายเพราะถูกพิษใบตะลังตังช้าง ถ้าเอาใบตะลังตังช้างมาปูนอนดังว่าก็คงรู้สึกพิษสงของใบไม้ตั้งแต่แรก พอหนีเอาตัวรอดได้ ไหนจะนอนทนพิษอยู่จนขาดใจตาย ยังมีบางคนกล่าวต่อไปอีกอย่างหนึ่งว่า ใบตะลังตังช้างนั้นถ้าตัดเอาครีบตรงที่มีขนออกเสียให้หมดแล้วใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือใส่แกงกินอร่อยดี ดูก็แปลก แต่ฉันไม่ได้ทดลองให้ใครกินใบตะลังตังช้างหรือเอามาจี้ช้างให้ฉันดู เป็นแต่ให้เอามาพิจารณาดู รูปร่างอยู่ในประเภทใบไม้สี่เหลี่ยม เช่น ใบมะเขือ ขนาดเขื่องกว่าใบพลูสักหน่อยหนึ่ง แต่ที่ครีบมีขนเหมือนขริบรอบทั้งใบ ใบไม้มีพิษพวกนั้นยังมีอีก ๒ อย่าง เรียกว่า “ตะลังตังกวาง” อย่างหนึ่ง “สามแก้ว” อย่างหนึ่ง แต่รูปใบรีปลายมน เป็นใบไม้ต่างพันธุ์กับตะลังตังช้าง เป็นแต่ที่ครีบมีขนเช่นเดียวกัน และว่าพิษสงอ่อน ไม่ร้ายแรงถึงตะลังตังช้าง ได้ยินเขาว่าทางข้างเหนือที่เมืองลำพูนต้นตะลังตังกวางก็มี แต่ฉันไม่ได้เห็นแก่ตาเหมือนที่แหลมมลายู”