ไม่นานมานี้ประเทศเยอรมนีประสบปัญหา “ขาดแคลนแรงงานทักษะสูง” ในตลาดแรงงาน ซึ่งกำลังสร้างแรงกดดันให้บริษัทต่างๆ ต้องเร่งหาพนักงานเข้ามารับตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ ประกอบกับ “อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น” เป็นประวัติการณ์ ทำให้ลูกจ้างมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น พนักงานต่างออกมาประท้วงขอขึ้นค่าจ้าง และร้องขอความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น เช่น การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์
ความไม่สมดุลในตลาดแรงงานของเยอรมนีกำลังกระตุ้นให้เกิดความตึงเครียดระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุการณ์พนักงานขับรถไฟของเยอรมนีนัดหยุดงานเป็นเวลา 6 วัน โดยเรียกร้องให้ Deutsche Bahn บริษัทรถไฟแห่งชาติของประเทศเยอรมนี ลดเวลาทำงานลงเหลือสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมงจากเดิม 38 ชั่วโมง โดยไม่ลดค่าจ้างใดๆ ขณะเดียวกัน “สหภาพแรงงานก่อสร้าง” หลายบริษัทในเยอรมนี ก็ขอขึ้นค่าจ้างมากกว่า 20% สำหรับคนงานจำนวนมากจากทั้งหมด 930,000 คน
เยอรมนีทดลอง “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” หวังลดการขาดแคลนแรงงาน
อีกทั้ง จากการสำรวจตลาดแรงงานในเยอรมนีเมื่อปีที่แล้ว พบว่า 50% ของบริษัทในเยอรมนีไม่สามารถหาพนักงานมาเติมในตำแหน่งงานว่างได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการที่บริษัทต่างๆ ในเยอรมนีรวม 45 แห่ง ได้ตกลงเข้าร่วมทดลองในโครงการ “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าการทำงานรูปแบบนี้ จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงได้หรือไม่?
ทั้งนี้โปรแกรมดังกล่าวจะใช้ระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา และจะไปสิ้นสุดที่เดือนสิงหาคม 2567 โดยทุกบริษัทที่เข้าร่วมโครงการฯ จะมอบวันหยุดเพิ่มให้กับพนักงานหลายร้อยคนทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 วัน และลูกจ้างจะยังคงได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนเหมือนเดิม โดยคาดหวังว่าจะทำให้พนักงานมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขมากขึ้น และช่วยให้การทำงานมีประสิทธิผลมากขึ้น
โซเรน ฟริกเก้ นักวางแผนงานกิจกรรมและเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Solidsense ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี 1 ใน 45 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการข้างต้น สะท้อนมุมมองความคิดเห็นว่า เขาเชื่อมั่นอย่างยิ่งในการลงทุนกับพนักงาน การทำงานรูปแบบใหม่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ไม่เพียงแต่พนักงานจะสุขภาพกายใจดีขึ้นเท่านั้น มันยังทำให้พวกเขามีแรงจูงใจที่จะทำงานเต็มที่มากขึ้น นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานด้วย การทดลองครั้งนี้หากมันได้ผลดี บริษัทก็จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในระยะยาว
การลดชั่วโมงทำงาน ช่วยให้พนักงานมีผลิตผลมากขึ้น และลดการสูญเสียของบริษัทได้อย่างไร?
ในขณะที่การศึกษาของ Gallup เมื่อเร็วๆ นี้ ค้นพบว่า งานที่มีส่วนร่วมของพนักงานในระดับต่ำ ทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหาย 8.1 ล้านล้านยูโร (8.8 ล้านล้านดอลลาร์) ในปีที่แล้ว หรือคิดเป็น 9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม องค์กร “4 Day Week Global” ในนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นผู้นำโครงการนำร่อง ได้อธิบายถึงหลักการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ไว้ว่า แม้ว่าพนักงานจะทำงานน้อยลงในระหว่างการทดลองโดยได้รับค่าตอบแทนเท่าเดิม แต่ผลงานของพวกเขาควรจะคงที่หรือเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ อีกทั้งบริษัทยังคาดหวังว่าพนักงานจะขาดงานน้อยลง อันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพ เช่น ความเครียด ความเจ็บป่วย และภาวะหมดไฟ
ที่ผ่านมามีข้อมูลพบว่า ลูกจ้างชาวเยอรมันมีการลางานหรือขาดงานในปี 2565 โดยเฉลี่ย 21.3 วันต่อปี ส่งผลให้สูญเสียมูลค่าเพิ่มถึง 2.07 แสนล้านยูโร ตามข้อมูลของสถาบันกลางเพื่อความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เคยทดลองในสหรัฐ แคนาดา สหราชอาณาจักร และมันได้ผลดี!
การทดลอง “ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์” เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งได้ผลลัพธ์ออกมาว่า ผลิตผลการทำงานของพนักงานเพิ่มขึ้นจริง คนงานที่เข้าร่วมโครงการรายงานว่า พวกเขามีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดีขึ้น ในขณะที่ความเบิร์นเอาท์ลดลง หลังจากการศึกษาทดลองครั้งนั้น ไม่มีบริษัทที่เข้าร่วมบริษัทใดวางแผนที่จะกลับไปใช้การทำงานแบบ 5 วันต่อสัปดาห์อีก
ในขณะที่โครงการนี้ก็เคยเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรเช่นกัน ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยมีบริษัทเข้าร่วม 61 แห่ง พบว่า พวกเขามีกำไรเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน รวมถึงจำนวนวันลาป่วยของพนักงานลดลง 65% ส่วนในโปรตุเกส พบว่าหลังพนักงานเข้าร่วมโครงการนี้ ระดับความวิตกกังวลและปัญหาการนอนหลับลดลงประมาณ 20% ซึ่งบริษัทในเยอรมนีต่างหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนก็ออกมาแย้งว่า การปรับลดการทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ ไม่เป็นผลดี! มันจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งหลายบริษัทยังการขาดการลงทุนในด้านนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล
ยาน บูห์เรน จาก Intraprenör ที่ปรึกษาในกรุงเบอร์ลินที่ทำงานร่วมกับ 4 Day Week Global ในโครงการนำร่องกล่าวว่า การจะบรรลุเป้าหมายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ให้ได้ผลดี ต้องอาศัยความยืดหยุ่นและความคิดสร้างสรรค์ของบริษัทต่างๆ ร่วมด้วย การทำงานรูปแบบนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกบริษัท! นายจ้างต้องค้นหาให้แน่ชัดว่าการทำงานรูปแบบนี้เหมาะสมกับบริษัทของตนหรือไม่ หรือแผนกงานไหนควรใช้ แผนกงานไหนไม่ควรใช้ เป็นต้น