สาวภูมิใจ มีใต้ฝ่าเท้าซ้าย เชื่อมาตลอดว่าเป็น “ไฝนำโชค” แต่หมอเห็นปุ๊บส่งตรวจ “มะเร็ง” ผลออกมาหน้าซีด
เว็บไซต์ soha ของเวียดนาม รายงานเรื่องราวคุณเอ็น (นามสมมุติ) ผู้หญิงคนหนึ่งที่จู่ๆ เมื่อ 10 ปีก่อน ก็มีไฝดำปรากฏที่ใต้ฝ่าเท้าซ้าย แต่แทนที่จะกังวลเธอกลับรู้สึกมีความสุขอย่างยิ่ง เชื่อว่าไฝที่เท้าถือเป็นไฝฮวงจุ้ย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภและความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ไม่เคยคิดว่าจะเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคร้ายใดๆ
อย่างไรก็ตาม ระหว่างตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลครั้งล่าสุด เธอลองสอบถามแพทย์เรื่องไฝที่เท้าซึ่งพบว่ามีขนาดเพิ่มขึ้นผิดปกติ ผลการตรวจทางคลินิกเบื้องต้นพบว่าไฝนี้เป็นสัญญาณเตือนเนื้อร้าย เช่น ขนาดประมาณ 1 ซม. ไม่สมมาตร ผิวหยาบสีน้ำตาล-ดำ จึงแนะนำให้เธอเข้ารับการผ่าตัดเอาเนื้องอกทั้งหมดออกเพื่อประเมินผลทางจุลพยาธิวิทยาให้แน่ชัด
ต่อมา ผลการวิเคราะห์ทางจุลพยาธิวิทยาพบว่าเซลล์เนื้องอกมีลักษณะเป็น “มะเร็ง” เช่น นิวเคลียสของเซลล์เนืองอกมีขนาดใหญ่ นิวเคลียสสีแดง เซลล์ไมโทติสกระจัดกระจาย ไซโตพลาสซึมที่มีเม็ดสีเมลานิน แทรกซึมเข้าไปในผิวหนังชั้นนอก และเข้าสู่ผิวหนังชั้นหนังแท้ ในที่สุดก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น “มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา”
ทั้งนี้ หลังการผ่าตัดเอาเนื้องอกออก สุขภาพของคุณอ็นฟื้นตัวปกติดี โดยมีแพทย์ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และจะมีนัดติดตามผลหลังผ่านไป 3 เดือน
วิธีแยกแยะระหว่างไฝปกติและไฝเตือนมะเร็ง
แพทย์จากแผนกสุนทรียศาสตร์ผิวหนัง มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และเภสัชศาสตร์โฮจิมินห์ซิตี้ กล่าวไว้ว่า ไฝเกิดขึ้นเนื่องจากการกระจายตัวของเซลล์ผิวหนังชั้นนอกที่สร้างเม็ดสี (เมลาโนไซต์) ที่ไม่สม่ำเสมอในชั้นล่างสุดของหนังกำพร้า ไฝส่วนใหญ่ไม่เป็นพิษเป็นภัยและไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไฝเหล่านี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสีหรือโครงร่าง
อย่างไรก็ตาม ยังมีไฝในบางตำแหน่งซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง และจำเป็นต้องตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่เนิ่นๆ จะมีลักษณะดังนี้
- การพัฒนาที่ผิดปกติ ไฝที่เติบโตเมื่อเวลาผ่านไปและมีขนาดเปลี่ยนแปลง เนื่องจากไฝเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เวลาในการเปลี่ยนจากขนาดเล็กไปใหญ่นั้นสั้นมาก
- ไม่สมมาตร โดยปกติไฝมักจะมีรูปร่างกลมและรูปไข่ โดยทั้งสองด้านจะสมมาตร แต่ไฝที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ทั้งสองด้านจะไม่สมมาตร
- ขอบไม่ปกติ ขอบของไฝที่มีรูปร่างเหมือนแผนที่ คดเคี้ยว และไม่สม่ำเสมอ
- สีไม่สม่ำเสมอ แทนที่จะเป็นเพียงสีน้ำตาลหรือสีดำ ไฝที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งจะมีจุดสว่าง จุดดำ จุดสีน้ำตาล จุดแดง จุดสีน้ำเงิน หรือมีเม็ดสี
- ไฝที่ปรากฏหลังอายุ 25 ปี โดยปรากฏในบริเวณที่โดนแสงแดดมาก
- มีอาการปวดหรือคัน ผิวหยาบ หรือเกิดแผลบริเวณไฝ
ทั้งนี้ เมื่อไปตรวจสุขภาพ แพทย์จะทำการตรวจทางคลินิกก่อน และกำหนดการทดสอบที่จำเป็นเพื่อประเมินความเสี่ยง หากการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะประเมินระยะลุกลามของเนื้องอก หรือดูว่าเนื้องอกได้แพร่กระจายไปแล้วหรือไม่ โดยมะเร็งผิวหนังเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดอันตราย อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ การตรวจหาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม ลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายและการเสียชีวิต และนำคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาสู่ผู้ป่วย