ไหม้เรียบโกดังกระดาษรีไซเคิล ชาวบ้านหวั่นลุกลามถึงชุมชน ด้าน ผวจ.ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย

เมื่อเวลา 21.00 น. ของวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์รายงานสถานการณ์ล่าสุดพบว่า แม้ทางเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะสามารถฉีดน้ำตีวงล้อมไม่ให้ไฟลุกลามไปยังโกดังอื่นได้ แต่เปลวเพลิงยังคงโหมรุนแรงเหมือนเดิม ซึ่งผลจากการที่ไฟลุกไหม้มาตลอดทั้งวันนั้น ก็ส่งผลทำให้โครงเหล็กของตัวโกดังทรุดตัวยุบลงมาทั้งหมดแล้ว โชคดีที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ได้รับอันตรายจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ แต่การที่โครงหลังคาหรือโครงสร้างของตัวโกดังยุบลงมาทับกองกระดาษที่ถูกเผาไหม้นั้น ก็กลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญคือ เมื่อโครงเหล็กซึ่งมีความร้อนสูงยุบตัวลงมาก็ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีส่งเจ้าหน้าที่ชุดผจญเพลิงและรถแบ็คโฮเข้าทำงานแบบคุ้ยเขี่ยแล้วฉีดพ่นน้ำอย่างเช่นโรงงานที่ตำบลนาโคกได้ เพราะโครงเหล็กมีทั้งความร้อน และเป็นอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน จึงต้องใช้วิธีการระดมฉีดน้ำเข้าไป พร้อมกับจัดชุดเฝ้าระวังพื้นที่ๆ ยังไม่เกิดเหตุ

ซึ่งทางศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ไฟไหม้ ที่มีนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นผู้อำนวยการจังหวัด ก็ได้สั่งการให้ ร้อยตรีประพันธ์ ถึกสกุล นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ จัดแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรสาคร เข้าปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาต่างๆ สลับกันไปตามแผนปฏิบัติการ โดยสนธิความร่วมมือกับทางศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี ที่ได้นำเครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล 2 คัน เข้ามาช่วยปฏิบัติการ กับทางเจ้าหน้าที่กองปฏิบัติการดับเพลิงและกู้ภัย 1 สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร รวมถึงเจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิต่างๆ นอกจากนี้ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยังได้สนับสนุนรถดับเพลิงควบคุมระยะไกล จำนวน 10 เครื่อง

ขณะที่ชุมชนรอบนอกโรงงาน ที่มีระยะห่างจากทางด้านหลังของโรงงานราวๆ 1 กิโลเมตร แม้จะมีดงปรือและลำคลองเล็กๆ กั้นไว้ แต่เปลวเพลิงที่ดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้นในช่วงค่ำ ก็ส่งผลทำให้หลายคนหวั่นวิตกกังวล ทั้งกลัวในเรื่องของเศษไฟที่ปลิวมาตามสายลม และฝุ่นควัน บางคนถึงกับมีการย้ายข้าวของเสื้อผ้าบางส่วน และเด็กเล็กๆ ออกมาอยู่กับญาติข้างนอกก่อน เพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยในชีวิต

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า จากเหตุการณ์นี้ ทางด้านของนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด ก็ได้ออกประกาศจังหวัดสมุทรสาคร เรื่อง เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน อัคคีภัย ในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร

ด้วยได้เกิดเหตุอัคคีภัยในเขตพื้นที่ บริษัท ปัญจพลไฟเบอร์คอนเทนเนอร์ จํากัด และพื้นที่ ใกล้เคียงท้องที่ หมู่ที่ 1 และ หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.24 น. ซึ่งภัยดังกล่าวเป็นสาธารณภัย/ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ก่อให้เกิดอันตราย ต่อชีวิต ร่างกายของประชาชน ความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ และสาธารณภัย/ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินดังกล่าว ยังไม่สิ้นสุดลง เพื่อประโยชน์ในการจัดการสาธารณภัย ให้เป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน อาศัยอำนาจตามความ ข้อ 20 วรรคสามของระเบียบกระทรวงการคลัง

ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ประกอบกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร/ผู้อำนวยการจังหวัด จึงประกาศให้พื้นที่ หมู่ที่ 1 และ หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้ส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในเขตพื้นที่ประสบภัย ดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร พ.ศ. 2564 – 2570 และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วและดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันที่เกิดภัย