แม่ไม่สบายใจ เปิดกล้อง รร.อนุบาล เห็นลูกได้กินอาหาร “แตกต่าง” จากเพื่อนๆ คนคอมเมนต์เป็นร้อย แนะเปิดใจคุยกับครูตรงๆ
เว็บไซต์ soha ของเวียดนาม รายงานถึงเรื่องราวที่แชร์บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากบรรดาผู้ปกครอง เมื่อคุณแม่คนหนึ่งบอกว่าลูกของเธอเข้าโรงเรียนสำหรับดูแลเด็กเล็กตั้งแต่เขาอายุ 7 เดือน จนปัจจุบันก็ผ่านมา 2 ปีกว่าแล้ว บางครั้งเธอก็เปิดกล้องในชั้นเรียนดูลูกชายให้คลายความคิดถึง
กระทั่งวันหนึ่ง บังเอิญเป็นกล้องดูในช่วงเวลาที่เด็กๆ รับประทานอาหารพอดี และสังเกตเห็นว่ามื้ออาหารของลูกชายนั้น ได้รับปริมาณที่น้อยกว่าของนักเรียนคนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยเธอยังเปิดเผยด้วยว่า ราคาอาหารที่จ่ายให้กับทางโรงเรียนคือ 60,000 ดอง/วัน (ประมาณ 86 บาท) ซึ่งหากลูกชายได้ทานเพียงเท่านี้ ก็ดูเหมือนว่าจะแพงเกินไป
ทั้งนี้ เธอยังได้ส่งแคปภาพมื้ออาหารกลางวันของเด็กๆ มาโพสต์ลงโลกออนไลน์ด้วย เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างมื้ออาหารของลูกชาย กับของเพื่อนๆ พร้อมขอคำแนะนำจากชาวเน็ตว่า เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้ ควรใช้วิธีพูดคุยกับคุณครูอย่างไรดี เพื่อจะไม่ทำให้ขุ่นเคืองและมีผลกระทบต่อลูกชาย
“ปกติเวลาถามครูมักจะชมลูกของฉันว่ากินอาหารหมดเร็วเสมอ พอได้มาเห็นจากกล้องถึงรู้ว่าทำไมลูกกินหมดเร็วมาก แต่ยังตัวเล็กและไม่อ้วนเลย”
เธอบอกด้วยว่า นับตั้งแต่ช่วงปีหลังมานี้ ครูไม่เคยพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์หรือปรึกษาเรื่องราวของลูกชายของเธออย่างจริงๆ จังๆ เลยสักครั้ง ซึ่งทำให้เธอยิ่งรู้สึกเป็นกังวล “ไม่รู้ว่าลูกของฉันมีปัญหาอะไรบ้างไหม หรือต่อให้ลูกชายของฉันจะหกล้ม โดนข่วน หรือแม้กระทั่งเรื่องกินดื่ม เมื่อฉันถามครูก็จะให้คำตอบที่คลุมเครือเท่านั้น” เธอกล่าวเสริม
หลังจากเรื่องราวข้างต้นถูกแชร์ออกมา ก็ได้รับความคิดเห็นเกือบ 100 ความเห็น พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่มีลูกอยู่ในโรงเรียนอนุบาล คิดว่าไม่ใช่เพราะคุณครูลำเอียง หรือชอบลูกชายผู้โพสต์ แต่น่าจะเป็นเพราะเธอตักข้าวตามการกินของเด็กๆ มากกว่า ถ้ากินเยอะก็ตักให้มาก กินน้อยก็ตักให้น้อย เมื่อเด็กมีความอยากอาหารน้อยกว่าเพื่อนๆ ครูจึงตักข้าวและอาหารให้น้อยลง และหากทานหมดแต่ยังไม่อิ่ม ก็น่าจะสามารถเติมอาหารได้ใหม่
ขณะที่ชาวเน็ตคนหนึ่งซื่งเคยเป็นครูอนุบาลบอกว่า “ในฐานะครูอนุบาลที่ออกจากอาชีพมา 4 ปีแล้ว จะตักตามความสามารถในการกินของเด็กแต่ละคน อันดับแรกเพื่อไม่ให้เสียเปล่า และสำหรับเด็กที่กินได้น้อย วิธีนี้กระตุ้นให้รู้สึกว่สามารถกินอาหารได้หมดจาน กระตุ้นให้รู้สึกกินมากขึ้น ทำให้ไม่กลัวการกิน และไม่รู้สึกแย่กับการกินหมดช้ากว่าเพื่อนๆ แน่นอนว่าการควบคุมอาหารหรือเมนูนั้นมีความสมดุลและวางแผนโดยแผนกโภชนาการของโรงเรียน และครูจะพิจารณาเด็กแต่ละคนด้วย ว่าน้ำหนักเกินหรือไม่ ขี้เกียจกินผักหรือเปล่า เพื่อให้ดีต่อสุขภาพของเด็กที่สุด”
นอกจากนี้ พ่อแม่อีกหลายคนแนะนำตรงกันว่า เป็นการดีที่สุดที่ผู้โพสต์ควรจะพูดคุยกับคุณครูของลูกชายอย่างตรงไปตรงมา แต่แน่นอนว่าการพูดคุยนั้นต้องทำอย่างมีไหวพริบและไม่ใช้อารมณ์ ผู้ปกครองคนหนึ่งออกความเห็นว่า “ขอแค่เล่านิสัยการกินของลูก และสิ่งที่คุณต้องการให้ครูรับฟัง อย่าเขินอายหรือกลัว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสุขภาพของลูก และการแก้ปัญหาที่ติดค้างในใจ เพื่อให้การไปโรงเรียนของลูกคุณมีความสุข”