หลายคนน่าจะยังไม่รู้ว่าตอนนี้ “พะยูน” ถือเป็นสัตว์สงวนในประเทศไทยที่เสี่ยงสูญพันธุ์ ในประเทศไทยมีประชากรพะยูนเหลืออยู่แค่ประมาณ 300 เท่านั้นเอง
การดูแลรักษาพะยูนแต่ละชีวิตนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักอนุรักษ์ แต่แค่ทำให้พวกมันมีชีวิตอยู่ในพื้นที่ปิดคงจะน่าสงสารมาก
พอพวกเขาเจอ มาเรียม จึงตัดสินใจที่จะดูแลมันในทะเลแทน ถึงแม้พวกเขาจะต้องเหนื่อยกว่าเดิมมาก และจะไม่มีประสบการณ์การดูแลแบบนี้เลย แต่ทั้งหมดก็เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของมัน
เจ้ามาเรียมเป็นพะยูนกำพร้าที่พลัดหลงกับแม่ จนนักอนุรักษ์ไปเจอมันเกยตื้นอยู่แถวทะเลอ่าวทึงปอตะ จังหวัดกระบี่ในวันที่ 26 เมษายน 2019
แถวนั้นเป็นน่านน้ำที่มีเรือสัญจรไปมามาก หากปล่อยมันไว้ที่เดิมมันอาจได้รับบาดเจ็บจากใบพัดเรือได้ นักอนุรักษ์จึงอยากย้ายมันไปที่ที่ปลอดภัยกว่าแทน
แต่ครั้นจะให้มันย้ายไปอยู่ในบ่อเลี้ยง มันก็คงจะต้องอยู่ในนั้นตลอดชีวิต เพราะการย้ายมันออกมาอยู่ตามธรรมชาติในภายหลังมีโอกาสทำให้มันไม่รอดสูงมาก
ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน เล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจของอนุรักษ์ว่า
“เป็นเรื่องยากทีเดียวที่เราต้องเป็นคนเลือกเส้นทางชีวิตให้มาเรียม แต่เราคิดว่าการมีชีวิตอย่างมีคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญกว่าการมีชีวิตรอดในบ่อเลี้ยง
เราจึงตัดสินใจเคลื่อนย้ายมาเรียมเมื่อวันที่ 29 เมษายนมาปล่อยบริเวณอ่าวทุ่งคา เกาะลิบง ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่และมีพะยูนมากกว่าร้อยตัว”
การตัดสินใจดังกล่าวเป็นงานที่ยากมากทีเดียว เพราะประเทศไทยเราไม่เคยดูแลพะยูนในพื้นที่ทะเลมาก่อน แต่นักอนุรักษ์ก็พยายามอย่างหนักเพื่อเจ้ามาเรียม
ในการดูแลมาเรียมพวกเขาต้องสร้างพื้นที่ทะเลปิดขึ้นมา จึงต้องขอความร่วมมือจากหลายฝ่ายรวมไปถึงชาวบ้านแถวนั้นด้วย โชคดีที่ทุกคนให้ความร่วมมือเรื่องนี้เป็นอย่างดี
หลังจากสร้างพื้นที่ดูแลมันเสร็จ นักอนุรักษ์ก็จะคอยจับตาดูมันและผลัดเวรกันเข้าไปดูแลให้อาหารมาเรียม โดยที่มีชาวบ้านช่วยเป็นหูเป็นตาอีกแรงหนึ่ง
มาเรียมเป็นพะยูนที่ขี้อ้อนมาก หลังจากที่กินอาหารเสร็จมันก็จะอ้อนคนที่เข้ามาดูแล มันชอบกอดและเข้าไปคลอเคลียกับสิ่งรอบตัว
บ่อยครั้งที่มันชอบเข้าไปว่ายน้ำอยู่ใกล้ๆ เรือพายสีส้มที่นักอนุรักษ์ใช้พายเข้าไปดูแลมัน เหมือนกับลูกพะยูนทั่วไปที่ชอบว่ายน้ำติดกับแม่ นักอนุรักษ์จึงพากันตั้งชื่อเรือลำนั้นว่า “แม่ส้ม”
สัตวแพทย์หญิงพัชราภรณ์ แก้วโม่ง (หมอฟ้า) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ดูแลมาเรียมเล่าว่า “การดูแลสัตว์ในทะเลยากกว่าระบบปิดเยอะเลยค่ะ แน่นอนว่าสถานที่ไม่ได้สะดวกสบาย และมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทำงานตลอดเวลา
ไม่ว่าจะเป็นถูกแมงกะพรุน หรือคลื่นลมที่คาดเดาไม่ได้ แต่มีข้อดีมากคือสัตว์ได้อยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ โดยเฉพาะกรณีของมาเรียม
เราเรียกว่าเป็นการนำลูกพะยูนมาฟื้นฟูสุขภาพในแหล่งที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ เพราะพะยูนได้อยู่ในธรรมชาติ มีโอกาสเรียนรู้กับทะเล และได้ใช้สัญชาตญาณในการดำรงชีวิตค่ะ”
การดูแลมาเรียมในพื้นที่ทะเลทำให้มันได้คุ้นชินกับธรรมชาติแบบทะเลทั่วไป แต่นักอนุรักษ์ก็รู้ดีว่าการเข้ามาดูแลมันบ่อยๆ แบบนี้อาจทำให้มันติดคนได้
สำหรับเรื่องนี้ดร.ก้องเกียรติได้ออกความเห็นว่า “สิ่งที่เรากังวลอีกอย่างก็คือ มาเรียมอาจมีพฤติกรรมที่คุ้นเคยกับคน ซึ่งอาจจะทำให้เป็นอันตรายต่อตัวเองได้ เช่นเสี่ยงที่จะถูกเรือชนหรือโดนใบพัดเรือ
แต่นั่นก็เป็นความเสี่ยงที่ต้องแลกมากับโอกาสในการเรียนรู้เพื่อใช้ชีวิตด้วยตนเอง เราหวังว่าเมื่อมาเรียมโตเป็นสาว อาจจะมีพะยูนตัวผู้ในบริเวณนี้มาจีบไปเข้าฝูงต่อไป”
ที่มา: National Geographic