ไวรัสโคโรนา : นักศึกษาไทยในต่างแดน ฟ้องศาลปกครองให้รัฐยกเลิกคำสั่งขอใบรับรองแพทย์ก่อนเข้าไทย

ไวรัสโคโรนา : นักศึกษาไทยในต่างแดน ฟ้องศาลปกครองให้รัฐยกเลิกคำสั่งขอใบรับรองแพทย์ก่อนเข้าไทย – BBCไทย

คนไทยในต่างแดนยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้ออกคำสั่งเพิกถอนประกาศ ที่กำหนดให้คนไทยที่จะกลับประเทศต้องมีใบรับรองแพทย์ (Fit to Fly Certificate) และ หนังสือรับรองจากสถานทูตไทย อ้างกระทบสิทธิตามรัฐธรรมนูญและมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ

นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยทรินิตี้คอลเลจดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เปิดเผยบีบีซีไทยว่า เมื่อ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา เขาได้ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางผ่านทางระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งพิพากษาเพิกถอน ข้อ 4. และข้อ 5. แห่งประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย ที่กำหนดให้ผู้โดยสารสัญชาติไทยที่จะเดินทางมายังประเทศไทยต้องมีเอกสารตามเงื่อนไข คือ ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (fit to fly) และ หนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่สถานเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศออกให้ ซึ่งกระทบสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ก่อภาระในการดำเนินการทั้งทางค่าใช้จ่าย ทางเวลา และความเสี่ยงในทางสุขภาพ

สำนักงานศาลปกครองกลางรับเรื่องเมื่อ 26 มี.ค. 2563 เวลา 08:30 น. ให้เป็นคดีหมายเลขดำที่ 933/2563 โดยคำร้องนี้มีนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับ พวกรวม 2 คน ประกาศรัฐบาลทำคนไทยในอังกฤษแห่ขอใบรับรองแพทย์ล้นสถานทูต

เมื่อ 19 มี.ค. นายจุฬาลงนามในประกาศสำนักงานการบินพลเรือนฯ เรื่องแนวทางปฏิบัติรับวิกฤตไวรัสโคโรนา มีเนื้อหาส่วนหนึ่ง กำหนดให้ชาวไทยที่จะเดินทางกลับประเทศจากทุกประเทศต้นทางต้องมีใบรับรองแพทย์ว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง และใบรับรองจากสถานทูต

ประกาศดังกล่าวได้สร้างความโกลาหลให้คนไทยในหลายประเทศที่ต้องการเดินทางกลับบ้าน พร้อมกับคำถามว่า มาตรการนี้จะสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้จริงหรือ

ทันทีที่ประกาศฉบับนี้ออกมา คนจำนวนมากโดยเฉพาะคนไทยในประเทศที่มีการระบาดรุนแรงในยุโรป เช่น อิตาลี สเปน เยอรมนีและสหราชอาณาจักร ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยเพราะทราบดีว่าการขอใบรับรองแพทย์ในต่างประเทศนั้น “ไม่ง่าย” โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่คนป่วยโควิด-19 ล้นโรงพยาบาลในหลายประเทศ บางคนมองว่า กทพ.ออกประกาศฉบับนี้มาเพื่อ “กีดกันคนไทยไม่ให้กลับบ้าน” พวกเขาบอกว่ารัฐบาลไทยกำลังทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลอื่น ที่พยายามให้พลเมืองของตนกลับประเทศให้มากที่สุด

ขัดรัฐธรรมนูญ ?

นายอาทิตย์ยกเหตุผลในคำฟ้องว่า ข้อ 4. และข้อ 5. แห่งประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจาก เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25, 38 และ 39

“มาตรการดังกล่าวไม่มีประสิทธิผลที่จะบ่งชี้ถึงสภาวะของเชื้อไวรัสโคโรนาในผู้โดยสารได้ แต่กลับส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารจำนวนมากที่อยู่ต่างประเทศอย่างมากเกินสมควร อีกทั้งเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร”

พร้อมกันนี้ นายอาทิตย์ยังขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามข้อ 4. และข้อ 5. แห่งประกาศที่พิพาทโดยฉุกเฉิน โดยยกเหตุผลว่าหากให้มีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง โดยได้รับความเสียหายแก่เวลาและโอกาสต่าง ๆ ที่ผู้ฟ้องคดีมีอยู่อย่างจำกัดในการเดินทางเพื่อมาดำเนินการจัดหาและแสดงเอกสารต่าง ๆ ตามประกาศ อีกทั้งก่อภาระอย่างเกินสมควรเพราะบังคับให้ผู้ฟ้องคดีเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรนา อันเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ในส่วนของผู้โดยสารในประเทศอื่น ๆ ที่มีมาตรการห้ามการเดินทางออกนอกเคหะสถานอย่างเคร่งครัด ประกาศนี้อาจส่งผลให้ผู้โดยสารมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของประเทศนั้นด้วย

รัฐบาลชี้แจงอย่างไร

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายจุฬา ผอ.กทพ.บอกกับบีบีซีไทยว่าพวกเขาทราบถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และกำลังหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออก แต่ยืนยันว่ามาตรการนี้มีความจำเป็น

ต่อข้อกล่าวหาที่ว่า มาตรการนี้กีดกันคนไทยกลับบ้าน-ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 39 ที่กำหนดว่า “การห้ามคนไทยเข้าราชอาณาจักรจะกระทำไม่ได้” นายอนุทินชี้แจงว่ารัฐบาลไม่มีสิทธิห้ามคนไทยกลับเข้าประเทศ แต่เนื่องจากขณะนี้มีคนไทยจำนวนมากที่อยู่ในประเทศที่มีการระบาดต่อเนื่องและเป็น “ประเทศเสี่ยงภัยของโลก” ทางการไทยจึงต้องการมั่นใจว่าคนไทยที่เดินทางกลับเข้ามานั้นไม่ป่วยและสุขภาพดีสำหรับการเดินทางด้วยเครื่องบิน

ขณะที่นายจุฬายืนยันเช่นกันว่าประกาศฉบับนี้ไม่ได้เป็นการกีดกันคนไทยกลับประเทศ “แต่เป็นเรื่องของการรับรองเพื่อไม่ให้คนอื่นบนเที่ยวบินนั้นได้รับผลกระทบ ก็เหมือนกับบางประเทศที่ขอให้ผู้โดยสารฉีดวัคซีนบางตัวก่อนเข้าประเทศนั้น ๆ”

ผู้อำนวยการ กพท.บอกว่าการขอใบรับรองแพทย์ fit to fly นั้นถือเป็นมาตรการที่เบาที่สุดแล้วสำหรับการยืนยันเรื่องสุขภาพในการเดินทาง ซึ่งต่างจากชาวต่างชาติที่ต้องแสดงใบรับรองแพทย์ว่าไม่มีเชื้อโควิด-19 เลย

รณรงค์ในวงกว้าง

นอกจากการยื่นฟ้องต้อศาลปกครองแล้ว กลุ่มนักศึกษาและคนไทยในหลายประเทศที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ในการขอเอกสารดังกล่าวจึงร่วมกันจัดการรณรงค์ในชื่อ “#คนไทยต้องได้กลับบ้าน รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศ Fit To Fly #BringThaiHome” ผ่านทางเว็บไซต์ Change.org/BringThaiHome หรือร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ทางลิงก์ shorturl.at/awzBQ ภายใน 28 มี.ค.

ที่มา https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_3831816