เมื่อวันที่ 13 เมษายน ที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยมีพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 307 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 299 คน ผู้เสียชีวิต 38 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 41.37 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 21.17 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 20.20 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่
รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.91 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 86.32 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.07 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 25.73 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01 – 17.00 น. และเวลา 19.01 – 20.00 น. ร้อยละ 7.49 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20 – 29 ปีร้อยละ 18.69 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,762 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,496 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พะเยา 15 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์และพะเยา 14 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด และเชียงราย 3 ราย
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 2 วันของการรณรงค์ (11 – 12 เม.ย. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 541 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 550 คน ผู้เสียชีวิต รวม 63 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 42 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ เชียงรายและประจวบคีรีขันธ์ (21 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราชและสงขลา (22 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด 5 ราย ศปถ. ได้ประสานจังหวัดบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดและจริงจัง โดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุและผู้กระทำความผิดซ้ำตามกฎหมายจราจรทางบก รวมถึงเฝ้าระวังจุดเสี่ยงบริเวณถนนทางหลวง เส้นทางสายรองถนน อบต. หมู่บ้าน เน้นการจัดตั้งจุดตรวจบริเวณเส้นทางโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์
และเตรียมความพร้อมด้านบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งคุมเข้มการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี และการจำหน่ายในลักษณะเร่ขายในบริเวณที่มีการพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ (Zoning) และสถานที่ท่องเที่ยว อีกทั้งเพิ่มความเข้มข้นดูแลความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำและแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเล่นน้ำสงกรานต์ตามขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย