เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยมีอาการนี้เพียงแต่แค่ไม่รู้ว่ามันคืออาการผิดปกติอย่างหนึ่งของร่างกาย อาการที่ว่านี้คือเวลาที่เราเจออากาศร้อย ๆ หรืออกกำลังกายแล้วมีเหงื่อไหลออกมา เราจะรู้สึกแสบ ๆ คัน ๆ หรือมีผื้นขึ้นตามบริเวณร่างกาย ซึ่งหากมีอาการดังที่กล่าวมานั้นอาจะเข้าข่ายเป็นโรค “แพ้เหงือตัวเอง”
โรคแพ้เหงื่อตัวเอง (Allergic Dermatitis) จัดว่าเป็นโรคภูมิแพ้หรือโรคแพ้ชนิดหนึ่ง โดยอาการแพ้มักจะแสดงออกมาในรูปของผื่น แต่ต้องบอกก่อนว่าโรคแพ้เหงื่อตัวเองไม่ได้เกิดจากการที่เหงื่อของเราเป็นพิษเพราะบางเคสเกิดจากผิวหนังของเราที่อาจจะเป็นโรคอื่นอยู่แล้ว เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคเกลื้อน โรคผิวหนังอักเสบ หรือโรคผิวหนังชนิดอื่นๆ
อาการเบื้องต้น
– ส่วนมากแล้วอาการแพ้เหงื่อจะเกิดขึ้นตรงบริเวณที่มีเหงื่อออกมาก เช่น ข้อพับ ขาหนีบ ลำคอ รอบดวงตา และบริเวณใบหน้า เป็นต้น
– มีอาการคันมากเวลาเหงื่อออก โดยเฉพาะจุดที่มีเหงื่อออกมากเป็นพิเศษ เช่น ลำคอ ใบหน้า ขาหนีบ แขน ขา ข้อพับ
– เวลาเหงื่อออกทีไรมักจะตามมาด้วยผื่นแดงหรือตุ่มใสเป็นประจำ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาดแค่ไหนก็ตาม
– จะมีตุ่มหรือผื่นแพ้ที่เกิดบนผิวหนัง ซึ่งจะอยู่แค่เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง และสามารถหายไปเองได้ แต่เมื่อไหร่ที่เหงื่อออกอีกครั้ง อาการคันก็จะกลับมา
– มีสิวขึ้นบริเวณตรงที่เหงื่อออก แต่ต้องบอกก่อนว่ามีหลายคนคิดว่าตัวเองมีอาการแพ้เหงื่อแล้วสิวขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วผื่นบนผิวหนังนั้นเป็นผื่นที่เกิดจากการแพ้ ไม่ใช่สิว หรือถ้าหากพบว่ามีตุ่มใสขึ้น ลักษณะหน้าตาคล้ายๆสิวอักเสบนั้นต้องปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อหาสาเหตุของโรคที่แท้จริงเนื่องจากอาการแพ้ที่เกิดจากเหงื่อที่จะแสดงออกมาในรูปของผื่นคันหรือตุ่มคัน และรอยแดงๆ บนผิวหนังเท่านั้น
-คนที่มีแนวโน้มเสี่ยงเป็นโรคแพ้เหงื่อตัวเองนั้นอาจจะเป็นคนที่เป็นโรคแบบนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นลมพิษเรื้อรัง คนที่มีโรคหอบหืด หรือโรคจมูกอักเสบ
วิธีรักษาอาการแพ้เหงื่อตัวเอง
หากมีอาการแพ้เหงื่อตัวเอง อาจลองพยายามหลีกเลี่ยงการมีเหงื่ออยู่บนผิวหนังเป็นระยะเวลานานๆ หากมีเหงื่อให้รีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย และทำให้ผิวหนังแห้ง ไม่อับชื้นนานๆ ดูก่อน หากไม่ดีขึ้น หรือไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมีเหงื่อได้เลย อาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อหาทางรักษาอย่างถูกวิธี
แพทย์หญิงสุราศี อิ่มใจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนัง โรงพยาบาลผิวหนังอโศก แนะนำว่า การรักษาโรคแพ้เหงื่ออาจทำได้ด้วยวิธี Desensitization หรือการทำให้ร่างกายค่อยๆ ชินต่ออาการแพ้จนไม่มีปฏิกิริยากับอาการแพ้อีกต่อไป โดยอาจลองฝึกให้ร่างกายอยู่ภายใต้สภาพอากาศที่ร้อน หรือปรับอุณหภูมิให้ค่อยๆ รู้สึกอุ่นขึ้นทีละหน่อย จนร่างกายไม่มีอาการแพ้เกิดขึ้นอีก
ที่มา : sanook